ไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ หากควบคุมรักษาไม่ได้ดีอาจส่งผลกระทบต่อครรภ์ของคุณแม่และลูกในครรภ์ เพราะฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของเด็ก ดังนั้น ถ้ามีการพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้เป็นแม่ ก็จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการของสมองที่ไม่ดีได้ รวมถึงการเติบโตของร่างกายเด็กทารกด้วยค่ะ
ข้อมูลโรคไทรอยด์สำหรับหญิงตั้งครรภ์
- การตั้งครรภ์มีผลอย่างไรกับต่อมไทรอยด์
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษมีผลอย่างไรกับมารดาและทารกในครรภ์
- การรักษาไทรอยด์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์
- ยาต้านไทรอยด์ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์หรือไม่
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีผลอย่างไรกับมารดาและทารกในครรภ์
- การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
- โรคไทรอยด์อักเสบหลังคลอด
การตั้งครรภ์มีผลอย่างไรกับต่อมไทรอยด์
- ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนเอชชีจี (hCG หรือ human chorionic gonadotropin) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เพิ่มมากขึ้น สามารถกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์มีการทำงานมากขึ้น ระดับฮอร์โมนนี้จะสูงมากในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้บางคนมีอาการแพ้ท้องได้ง่ายหรือมีผลการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่มีลักษณะไทรอยด์เป็นพิษ เมื่อผ่านไตรมาสแรกไปจะค่อยๆ ลดลง
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มระดับโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนไทรอยด์ได้ ทำให้การแปลผลค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ยากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์
- ขนาดของต่อมไทรอยด์อาจโตขึ้นได้เล็กน้อย แต่ปกติจะไม่สามารถคลำได้จากการตรวจร่างกาย ดังนั้น ถ้าเห็นว่ามีขนาดโตขึ้นหรือวินิจฉัยว่ามีคอพอก ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคไทรอยด์ด้วย
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์มักเกิดจากโรคไทรอยด์เกรฟ (Graves’ disease) บางคนเคยมีประวัติโรคนี้มาก่อนหรือเพิ่งทราบขณะตั้งครรภ์ก็ได้
การวินิจฉัยโรคประกอบด้วยการซักถามประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ อาจตรวจแอนติบอดี้หรือภูมิที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่เป็นสาเหตุของโรคไทรอยด์เกรฟ
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษมีผลอย่างไรกับมารดาและทารกในครรภ์
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษส่งผลต่อมารดา คือ แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ (เกิดความดันโลหิตสูง บวม ชักได้) อาการที่รุนแรงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ ซึม โคม่า ตับวาย หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษส่งผลต่อทารกในครรภ์ คือ น้ำหนักตัวน้อย คอพอก หัวใจเต้นเร็ว ดังนั้นถ้ามารดามีประวัติของโรคไทรอยด์มาก่อนไม่ว่าจะรักษาหายดีแล้วหรือยังรักษาไม่หาย ควรรีบมาฝากครรภ์และแจ้งประวัติโรคประจำตัวแก่สูติแพทย์เสมอ
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์
การรักษาหลักในระหว่างเกิดไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ห้ามใช้การรักษาด้วยไอโอดีนรังสี การผ่าตัดจะทำเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้เท่านั้น เนื่องจากยาต้านการทำงานของไทรอยด์สามารถผ่านรกไปยังทารกได้บางส่วน
ดังนั้นแพทย์จะให้ยาน้อยที่สุดเท่าที่จะควบคุมภาวะไทรอยด์เป็นพิษของมารดาได้ เพื่อไม่ให้ทารกเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และมารดาจะต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ระวังไม่ให้มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่มากขึ้น
ยาต้านไทรอยด์ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์หรือไม่
ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมทิมาโซล (methimazole) มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้ในช่วงไตรมาสแรก แต่เกิดขึ้นน้อยมากและมักไม่อันตรายต่อชีวิต
ทั้งนี้การรักษาอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์
สาเหตุการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ เกิดจากไทรอยฮาชิโมโตะมีการอักเสบเรื้อรัง ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์น้อยลง รวมไปถึงเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกหรือการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีผลอย่างไรกับมารดาและทารกในครรภ์
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีผลต่อมารดา คือ แท้งบุตร ภาวะครรภ์เป็นพิษ (เกิดความดันโลหิตสูง บวม ชักได้) ซีด
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีต่อทารกในครรภ์ คือ น้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการชองสมองและร่างกายน้อยกว่าปกติ
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
มารดาที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรเพิ่มขนาดยาอีกร้อยละ 20 – 30 ของปริมาณยาเดิม เช่น เดิมรับประทาน 75 ไมโครกรัมต่อวัน ควรเพิ่มเป็น 100 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพียงพอต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ และรีบมาฝากครรภ์ ติดตามระดับการทำงานของไทรอยด์ทุก 6 – 8 สัปดาห์
โรคไทรอยด์อักเสบหลังคลอด
โรคไทรอยด์อักเสบหลังคลอด (Postpartum thyroiditis) พบได้ในช่วงหลังคลอดบุตร พบได้นานถึงหนึ่งปีหลังคลอด ส่วนใหญ่จะมีอาการไทรอยด์เป็นพิษแบบไม่รุนแรงนาน 1-2 เดือน ตามมาด้วยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์นาน 6-12เดือน จนต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานได้ตามปกติ หรือบางรายอาจมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ถาวรได้
โรคนี้วินิจฉัยยากเพราะอาการของโรคคล้ายคลึงกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่มีอาการเหนื่อยล้าและอารมณ์ที่แปรปรวนได้ ถ้ามีอาการผิดปกติหลังคลอดควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
ไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะพร่องไทรอยด์หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ล้วนส่งผลเสียให้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ก่อนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์และรักษาไทรอยด์ให้ปกติก่อนตั้งครรภ์ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบมาฝากครรภ์และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
บทความที่น่าสนใจ
- โรคไทรอยด์คืออะไร? สังเกตอาการผิดปกติด้วยตัวคุณเองง่ายๆ
- การปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด! เมื่อเป็นโรคไทรอยด์ตามคำแนะนำของแพทย์
- คำถาม-คำตอบที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไทรอยด์
- เจาะต่อมไทรอยด์! เพื่อการวินิจฉัยโรคไทรอยด์
อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 26/10/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com