มะเร็งปากมดลูก ความเจ็บปวดที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ในกลุ่มของมะเร็ง และก่ออันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รักษา ในบทความนี้อินทัชเมดิแคร์เลยจะพาสาวๆทุกคน มารู้จัก “มะเร็งปากมดลูก“ ให้มากขึ้น โรคนี้คืออะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง การรักษา และวิธีการป้องกันอย่าง การฉีดวัคซีน HPV หรือ การตรวจคัดกรองโรค ช่วยป้องกันได้หรือไม่
รายละเอียดเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมด
- มะเร็งปากมดลูกคืออะไร
- สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร
- อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น
- โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถหายได้ไหม
- การรักษามะเร็งปากมดลูก
- วิธีการป้องกัน
มะเร็งปากมดลูกมีต้นตอมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV ,ไวรัสเอชพีวี) โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก จนกลายเป็นเนื้อเยื่อหรือเซลล์อักเสบเรื้อรังและเป็นมะเร็งในที่สุด
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร
สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด ได้แก่
- รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
- อายุ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
- สูบบุหรี่
- มีลูกหลายคน
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV)
- ไม่เคยตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ไม่เคยฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
- มีประวัติการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก
อาการเหล่านี้บอกถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
- เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ สวนล้างช่องคลอด หรือตรวจภายใน
- เลือดที่ไม่ใช่เลือดจากรอบประจำเดือน ออกทางช่องคลอด
- เลือดออกทางช่องคลอด (วัยทอง) หลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว
- ตกขาวมากขึ้น ตกขาวมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน
- ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออุ้งเชิงกราน
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- พบแผลหรือก้อนที่บริเวณปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถหายได้ไหม
โรคมะเร็งที่ปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ แต่ช่วงการรักษาที่ดีที่สุดคือในช่วงที่มีอาการระยะแรก และทางเดียวที่จะรู้อาการได้อย่างรวดเร็วก็คือ การตรวจคัดกรองโรค อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
การรักษามะเร็งปากมดลูก
การผ่าตัด (Surgery)
ในระยะแรก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการรักษาหลัก โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดปากมดลูก มดลูก ส่วนบนของช่องคลอด รวมไปถึงเนื้อเยื่อด้านข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน แต่หากมะเร็งมีขนาดเล็กมากและเป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัดเพียงปากมดลูกและมดลูก (simple hysterectomy)
การใช้รังสีรักษา (Radiation)
สำหรับผู้ป่วยระยะลุกลามเฉพาะที่ (Locally advanced cervical cancer) แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาหลัก แพทย์จะทำการฉายรังสีไปยังจุดที่ผิดปกติ วิธีการรักษาอีกประเภทคือ การให้รังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) โดยแพทย์จะให้แร่ผ่านด้านในช่องคลอดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการรักษาในกรณีที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว หรือในผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำ
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นระยะลุกลามเฉพาะที่ แพทย์จะรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดในปริมาณเล็กน้อยร่วมกับการใช้รังสีรักษา
- สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย แพทย์มักจะรักษาด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนเป็นวิธีหนึ่งในการที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US. FDA) ให้การรับรองแล้วว่าวัคซีน HPV มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักได้ถึง 100% ถ้าหากได้รับวัคซีนก่อนมีการติดเชื้อ
- การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันมะเร็งช่องคลอด, มะเร็งปากช่องคลอด, มะเร็งลำคอ และโรคหูดหงอนไก่ ที่อวัยวะเพศ ได้ด้วย
- ในปัจจุบันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีการฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกัน
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear) เป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติใน ‘ระยะก่อนเป็น’ หรือ ‘เป็นในระยะที่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า”
- ตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (Thin Prep Pap Test) การตรวจคัดกรองโดยเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว
- ตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจหาตัวเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด โดยการเก็บเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก (จากเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก และด้านในช่องคลอด) สามารถหาได้ตั้งแต่ระยะก่อนการเป็น
ออกกำลังกายเป็นประจำ
มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเลยนั้นเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนที่ออกกำลังกายถึง 2.5 เท่าเลย เพราะเมื่อร่างกายไม่แข็งแรงก็มีต้องมีโอกาสป่วยได้ง่ายกว่า ซึ่งการไม่ออกกำลังกายเลยนั้นสัมพันธ์ถึงการนอนหลับด้วย อาจทำให้หลับยากหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
การพักผ่อนน้อยจะมีผลต่อการฟื้นตัว |
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น
- การสวมถุงยางอนามัย
- การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ สามารถทำให้การเกิดรอยโรคของมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่ปากมดลูก รวมถึงความเสี่ยงมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งชนิดอื่นๆอีกมากมาย และทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันต่ำลง
มะเร็งปากมดลูก น่ากลัวแต่รับมือได้ การฉีดวัคซีนมะเร็งปาดมดลูก และตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอหากตรวจพบก็พร้อมรักษาได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าวิธีเหล่านี้จะไม่ได้ช่วยป้องกัน 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วรักษาที่ปลายเหตุ
หากสนใจเข้ารับบริการ ‘ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก’ หรือ ‘ฉีดวัคซีน HPV’ ที่อินทัชเมดิแคร์ สามารถแอดไลน์แล้วทักแชทหาเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถาม หรือนัดหมายรับบริการได้เลยค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- ผศ. นพ.ภุชงค์ ลิขิตธนสมบัติ, มะเร็งปากมดลูก
- American Society for Colposcopy and Cervical Pathology, Smoking and Cervical Cancer
- Global partners cheer progress towards eliminating cervical cancer and underline challenges, World Heath Organization
บทความที่น่าสนใจ
- ตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูก จำเป็นต้องฉีดไหม? วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์
อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 26/06/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com