ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบบ่อยในเด็ก มีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา มักระบาดในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน ติดต่อได้ง่าย อาการจะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์
การรักษาจะเป็นการให้ยาตามอาการ พร้อมกับให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความรุนแรงของโรค
อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์
- ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร
- โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่ออย่างไร
- อาการไข้หวัดใหญ่
- อาการที่พบในระยะแรก
- ลักษณะอาการที่ควรไปพบแพทย์
- อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
- วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่
- หากไม่รักษาไข้หวัดใหญ่หรือรักษาช้าจะส่งผลอย่างไร
- ราคายาต้านโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า อินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) มีความรุนแรงกว่าโรคหวัดธรรมดามาก พบได้ในทุกเพศทุกวัย จะระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
อ่านเพิ่มเติม : อาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร
โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร
ติดต่อได้ทางลมหายใจ ไอ จาม การหายใจรดกัน หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสจากการสัมผัสน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย นำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากก็สามารถทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
อาการที่พบในระยะแรก
อาการเบื้องต้นไข้หวัดใหญ่ ที่สังเกตได้คือจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น มักมีอาการปวดเมื่อยตามตัวมากโดยเฉพาะต้นแขน ต้นขา และบริเวณหลัง อ่อนเพลียมาก คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ ซึ่งหากใครที่มีอาการที่กล่าวมาข่างต้นหรือมีประวัติบุคคลใกล้ชิดเป็น ก็ควรรีบมาพบแพทย์และเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็ว
ส่วนใหญ่เคสไข้หวัดใหญ่จะเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย แต่ก็เคยเจอคนที่ไข้ต่ำๆ อาการไม่มากแต่ตรวจพบเชื้อก็มี ทางที่ดีหากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ อ่อนเพลียปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุดีกว่าค่ะ
– แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) –
ลักษณะอาการที่ควรไปพบแพทย์
อาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเชียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1 – 2 วัน มีผื่นขึ้น ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย ไอมาก มีเสมหะ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และอาการไม่ดีขึ้นหลังไข้ลง หรือหลังไข้ลงกลับมามีไข้อีก ควรรีบมาพบแพทย์และเข้ารับการวินิจฉัยโรคโดยเร็ว
อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่ได้รับการรักษาช้าสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้
อาการแทรกซ้อนแบบไม่รุนแรง
เป็นภาวะร่างกายขาดน้ำ ไซนัสอักเสบ (แน่นจมูก มีน้ำมูก เสมหะสีเขียวข้น เจ็บบริเวณหัวตา จมูกและคิ้ว), หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก), หลอดลมพอง (เสมหะเกิดการคั่งอยู่ในหลอดลม หากเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ไอเป็นเลือดได้) และอาจมีอาการหูชั้นในอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
อาการแทรกซ้อนแบบรุนแรง
“คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วจะเสี่ยงกว่าปกติค่ะ ที่หมอเคยเจอคือเคสผู้ใหญ่ เป็นผู้ชายอายุ 50 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มีอาการไข้ น้ำมูกไหล คนไข้นึกว่าตัวเองเป็นหวัดธรรมดา ไปร้านขายยาซื้อยามาทานเอง 3-4 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น รู้สึกเพลียมาก ทานอาหารไม่ได้เลย
พอมาพบแพทย์ ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ B เอกซเรย์พบว่าปอดอักเสบ ต้องได้รับยาต้านไวรัสทันทีและนอนโรงพยาบาลเช่นกัน”
วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่
ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาคือยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งจะได้ประโยชน์มากที่สุดหากได้รับยานี้ภายใน 48 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการรับประทานติดต่อกัน 5 วัน ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการของโรคและการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
ส่วนการดูแลอื่นๆ จะเป็นการให้ยาตามอาการเหมือนผู้ป่วยทั่วไป หากมีอาการไอ มีน้ำมูกให้ใช้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูกได้ตามอาการ
|
หากไม่รักษาไข้หวัดใหญ่ หรือรักษาช้าจะส่งผลอย่างไร
ถึงแม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายเองได้ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวไปจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
นอกจากนี้อาจยังเพิ่มความรุนแรงของอาการและเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อให้แก่บุคคลใกล้ชิดได้อีกด้วย
บทความที่น่าสนใจ
- อาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดาแตกต่างกันอย่างไร
- 9 วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็ว! และการป้องกัน ทำได้ง่ายๆ
- ราคายาต้านไข้หวัดใหญ่ ราคาเท่าไร?
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ (Influenza vaccine)
พญ.วรางคณา วิวัลย์ศิริกุล
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 26/04/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com