ตรวจนิโคติน เป็นการสารที่เป็นส่วนประกอบหลักในบุหรี่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บุหรีไฟฟ้า หรือ พอตสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ในบทความจะมาทำความรู้จักกับการตรวจสารนิโคติน ทำไมต้องตรวจ อยู่ได้นานแค่ไหน การตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และการเตรียมตัวก่อนการตรวจ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจนิโคติน
ตรวจนิโคติน คือการตรวจอะไร
การตรวจนิโคติน (Nicotine Test) คือ การตรวจสอบว่าภายในร่างกายนั้นมีสารอยู่หรือไม่ ซึ่งโดยปกติมักพบได้ในผู้สูบบุหรี่ ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีสารนี้เป็นส่วนประกอบ
สารนิโคตินคืออะไร?
นิโคติน คือ สารประเภทอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากพืชในสกุล Nicotiana หลายสปีชีส์ (Species) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เพิ่มสารโดปามีน (dopamine) และสารสื่อประสาทอื่นๆในสมอง จึงเป็นสารเสพแล้วติดได้ง่าย ผลต่อร่างกายอื่นๆอาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดการทนต่อยาทำให้ต้องการเสพยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเมื่อหยุดยาจะทำให้เกิดการถอนยา
สารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
ตัวกลางในการนำสารนี้เข้าสู่ร่างกายมีหลายอย่าง ได้แก่
-
บุหรี่ ยาสูบ และผลิตภัณฑ์จากยาสูบ ไม่ว่าจะโดยการสูบหรือเคี้ยว รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เช่นกัน
-
บุหรี่มือสอง หรือมือสาม โดยบุหรี่มือสองคือการสูดควันจากบุหรี่ที่ปล่อยจากผู้สูบโดยตรง และบุหรี่มือสามคือการสูดดูมหรือสัมผัสสารที่หลงเหลือบริเวณพื้นผิวต่างๆหลังจากควันหายไปแล้ว โดยสารสูบบุหรี่มือสองและสามนี้รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
-
บุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่มีนิโคตินผสม
-
Nicotine replacement therapy (NRT) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารนี้อยู่ในระดับต่ำ ใช้ในการป้องกันอาการถอนในคนที่กำลังเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ หรือ แผ่นแปะ
-
พืชผักบางชนิด เช่น ดอกกะหล่ำ มะเขือม่วง มะเขือเทศ พริกหวาน
สามารถพบสารนิโคตินที่ไหนได้บ้าง?
สามารถพบได้ใน เลือด ปัสสาวะ น้ำลาย เส้นผม และเล็บ
ทำไมต้องตรวจสารนิโคติน
-
การตรวจก่อนเริ่มงาน ในบางประเทศ มีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ จึงมีมาตราการจ้างงานโดยต้องตรวจระดับสารนี้ก่อนเริ่มงาน
-
การตรวจก่อนการผ่าตัด สารนี้มีผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะลดลง อาจทำให้การฝื้นตัวหลังผ่าตัดไม่ดี จึงมีการตรวจระดับสารนิโคตินก่อนผ่าตัด
-
เพื่อติดตามการเลิกสูบบุหรี่ โดยวัดระดับสารนี้ภายในร่างกาย เพื่อช่วยให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ติดตามความคืบหน้าในการเลิก
สารนิโคตินอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
-
ในเลือด จะดูดซึมเข้าไปในเลือดได้ภายใน 10 วินาที สามารถอยู่ในเลือดได้ 1-3 วัน หลังจากนั้นตับจะเปลี่ยนสารนิโคตินเป็นสารโคตินิน (Cotinine) ซึงสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า และเป็นสารที่ใช้ในการตรวจสอบได้เช่นกัน โดยโคตินินจะอยู่ในเลือด 10 วันนับจากการสูบ
-
ในปัสสาวะ สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ 2-4 วันหลังสูบ ส่วนสารโคตินินอยู่ในปัสสาวะได้ 2-3 สัปดาห์
-
ในน้ำลาย สมารถตรวจพบได้ในช่วง 4 วันหลังการสูบ
-
ในผมและเล็บ ตรวจพบสารโคตินินได้จนถึง 3 เดือนหลังสูบ หากในผู้ที่มีการสูบบุหรี่จัด อาจตรวจพบได้ถึง 1 ปีหลังสูบ
อันตรายของนิโคตินมีอะไรบ้าง
สารนิโคตินส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้ดังนี้
-
ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น
-
ผนังหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหลอดเลือดหัวและสมองอุดตัน
-
นิโคตินทำให้ติดได้ง่ายมาก ส่งผลให้ติดบุหรี่ เป็นผลให้ร่างกายได้รับอันตรายจากสารอีก 7,000 กว่าชนิดจากการสูบบุหรี่ ทำให้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งโพรงจมูกและช่องปาก มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
-
ในผู้ที่มีการตั้งครรภ์สามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ,ทารกน้ำหนักน้อย หรือในกรณีร้ายแรงคือเสียชีวิต
วิธีการตรวจหาสารนิโคติน
ตรวจเลือด (Blood Test)
ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดดำ และนำตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ในห้องห้องปฏิบัติการ วิธีนี้มีข้อดีคือ ความแม่นยำสูง แต่อาจมีราคาการตรวจสูงกว่าการตรวจปัสสาวะ
ตรวจปัสสาวะ (Urine Test)
การตรวจปัสสาวะทำได้โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะในชุดตรวจปัสสาวะที่แห้งและสะอาด โดยตัวอย่างปัสสาวะจะถูกนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหานิโคตินและสารเมตาโบไลต์ เช่น คอตินิน วิธีนี้มีข้อดีคือ สะดวกในการเก็บตัวอย่าง ราคาไม่แพง แต่ไม่เหมาะสำหรับการตรวจย้อนหลังในระยะยาว
ตรวจน้ำลาย (Saliva Test)
จะใช้การตรวจผ่านแผ่นทดสอบหรือหลอดเก็บตัวอย่างน้ำลาย และนำเอาตัวอย่างน้ำลายไปวิเคราะห์ในห้องไปยังห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีที่สะดวกและไม่เจ็บ สามารถเก็บตัวอย่างได้ง่าย แต่อาจมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยเลือด
ตรวจเส้นผม (Hair Test)
สามารถทำได้โดยการเก็บตัวอย่างเส้นผมจากหนังศีรษะ ประมาณ 1.5 นิ้ว และนำเอาตัวอย่างของเส้นผมไปวิเคราะห์ในห้องไปยังห้องปฏิบัติการ เหมาะสำหรับใช้ตรวจย้อนหลังในระยะยาว และไม่สร้างความเจ็บปวดในการตรวจ แต่ราคาค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลนาน
วิธีไหนมีความแม่นยำที่สุด
วิธีการตรวจนิโคตินที่มีความแม่นยำที่สุดคือ การตรวจเลือด
แต่ละวิธีเหมาะกับจุดประสงค์ใด
-
ตรวจเลือด เหมาะกับผู้ที่ต้องการความแม่นยำสูง
-
ตรวจปัสสาวะ เป็นวิธีที่ราคาถูก มักใช้ในการตรวจก่อนเริ่มงาน
-
ตรวจน้ำลาย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วและการหาในระยะสั้นๆ เช่น ติดตามการเลิกบุหรี่ ว่าในช่วง 1-4 วันยังมีการสูบบุหรี่หรือไม่
-
ตรวจเส้นผม เหมาะกับการตรวจหาสารย้อนหลังในระยะยาว ตรวจพบได้แม้หยุดสูบบุหรี่ไปนานแล้ว
อ่านเพิ่มเรื่องตรวจสารเสพเติด : ตรวจหาสารเสพติด ทำไมต้องตรวจ? มีวิธีการตรวจแบบไหนบ้าง
ราคาตรวจนิโคตินในปัสสาวะ
ราคาตรวจนิโคตินในปัสสาวะ ตั้งแต่ 1,350 – 1,700 บาท บาท
การตรวจนี้เหมาะสำหรับใครบ้าง
-
ผู้ที่สถานที่ทำงานมีความประสงค์ให้เข้ารับการตรวจ
-
ผู้ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
-
ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดและแพทย์แนะนำให้ตรวจสุขภาพ
-
ผู้ที่กำลังเลิกบุหรี่
-
ผู้มีปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ หรืออุปกรณ์สูบอื่นๆที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจนิโคตินมีดังนี้
-
หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารนิโคติน เช่น ดอกกะหล่ำ มะเขือม่วง มะเขือเทศ พริกหวาน 2-3 วันก่อนตรวจ แต่อาหารเหล่านี้หากไม่รับประทานให้ปริมาณที่มาก มักไม่ก่อให้เกิดผลบวกปลอม
-
หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ หรือการสูบบุหรี่มือสองหรือสาม
-
หากเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ การดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีสาร antioxidant เช่น ดาร์กชอคโกแลต ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถั่วพีแคน และการออกกำลังกายจะช่วยขับสานี้ออกจากปัสสาวะได้เร็วขึ้น
สรุป
การตรวจสารนิโคตินในร่างกาย เป็นกระบวนการตรวจที่ใช้เพื่อประเมินการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน เช่น บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนี้สามารถตรวจพบได้ในเลือด ปัสสาวะ น้ำลาย และเส้นผม การตรวจเลือดให้ความแม่นยำสูงสุด การตรวจปัสสาวะเป็นวิธีที่สะดวกและราคาไม่แพงซึ่งพบบ่อยในการตรวจสุขภาพ การตรวจน้ำลายเป็นวิธีสะดวกและไม่เจ็บเหมาะกับการตรวจในระยะสั้น ส่วนการตรวจเส้นผมเหมาะกับการตรวจย้อนหลังในระยะยาว
“การตรวจนิโคตินมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินปัญหาสุขภาพ การติดตามการเลิกบุหรี่ การตรวจสอบในสถานที่ทำงาน และการวางแผนการรักษา วิธีการตรวจที่เหมาะสม และการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้ได้ผลที่แม่นยำและเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ และการวินิจฉัยของแพทย์”
– แพทย์หญิงนารดา พิรัชวิสุทธิ์ (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำคลินิก) –
เอกสารอ้างอิง
-
Chuanyi Mark Lu, MD, PhD,Nicotine and Cotinine Test
-
Pathology tests explained, Nicotine
-
How long does nicotine stay in your system?
บทความที่น่าสนใจ
พญ.นารดา พิรัชวิสุทธิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 12/07/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com