“ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง” “ฝากครรภ์แต่ละครั้งตรวจอะไรบ้าง” เป็นคำถามสำหรับคุณแม่มือใหม่หลายท่านที่รู้ว่าตั้งครรภ์ต้องกำลังสงสัยแบบนี้อยู่แน่นอน เพราะการไปฝากครรภ์เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลใจว่าการฝากครรภ์ครั้งแรก หมอตรวจอะไรบ้าง ฝากครรภ์ครั้งแรก ค่าใช้จ่ายเท่าไร
คุณแม่ที่อ่านบทความนี้จนจบรับรองว่าหมดข้อสงสัยและลดความกังวลใจในการไปฝากครรภ์ครั้งแรกแน่นอน และพร้อมไปฝากครรภ์ที่คลินิกสูตินรีเวชใกล้บ้านได้ทันที
ฝากครรภ์แต่ละครั้งต้องตรวจอะไรบ้าง
ฝากครรภ์ครั้งแรก
การฝากครรภ์ครั้งแรก ควรฝากที่คลินิกฝากครรภ์ใกล้บ้านหรือสถานพยาบาลที่เดินทางไปได้สะดวก เพราะต้องไปตรวจครรภ์หลายรอบแนะนำให้เลือกคลินิกใกล้บ้านจะดีกว่า ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง รายละเอียดมีดังนี้
ซักประวัติคุณแม่
ฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะซักประวัติและข้อมูลเบื้องต้นของคุณแม่ ได้แก่ วันแรกของการมีรอบเดือนครั้งล่าสุด ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว การใช้ยาหรือรับประทานอาหารเสริมของผู้ตั้งครรภ์ ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อประเมินสุขภาพและให้คำแนะนำต่อไป
ตรวจร่างกาย
แพทย์จะตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียดในครั้งแรกที่ฝากครรภ์ โดยเริ่มจากชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง เพื่อประเมินระดับความยากง่ายในการคลอดธรรมชาติ ต่อมาแพทย์จะวัดสัญญาณชีพจร รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปากและฟัน เต้านมและหัวนม หรือตรวจคลำหน้าท้อง เพื่อดูปัญหาสุขภาพอื่น ๆ รวมทั้งตรวจช่องคลอดและปากมดลูก
ตรวจเลือดคุณแม่
การตรวจเลือดเป็นอีกอย่างที่สำคัญในการฝากครรภ์ครั้งแรก เพื่อนำไปวินิจฉัยหมู่โลหิตระบบอาร์เอช การติดเชื้อของระบบภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้ออื่น ๆ
- หมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rhesus, Rh) และคัดกรองโรค
- การติดเชื้ออื่น ๆ การตรวจเลือดยังช่วยตรวจหาการติดเชื้อหลายอย่างได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี
- ตรวจตัวอย่างปัสสาวะ แพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้ออื่น ๆ
ตรวจเลือดคุณพ่อ
นอกจากต้องตรวจเลือดคุณแม่แล้ว การตรวจเลือดคุณพ่อก็สำคัญเช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าสุขภาพของคุณพ่อแข็งแรงดีหรือไม่ หรือมีโรคอะไรที่อาจติดต่อไปสู่คุณแม่และลูกน้อยได้ไหม
เช่น โรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบบี หรือโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย
โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น กรณีที่ผลเลือดมารดาผิดปกติ มีการติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่ทารกจะเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
จ่ายยาบำรุงครรภ์
คุณแม่ทุกคนจำเป็นที่จะต้องได้รับยาบำรุงครรภ์ตามความเหมาะสมตลอดระยะเวลาการฝากครรภ์ และเป็นไปตามแผนการฝากครรภ์ของสูตินรีแพทย์ ได้แก่ กรดโฟลิก หรือโฟเลท หรือวิตามิน บี9 , ธาตุเหล็ก, แคลเซียม , วิตามินรวม ไม่ควรรับประทานยาหรือวิตามินนอกจากที่แพทย์กำหนด เพราะวิตามินเสริมต่างๆ อยู่ในอาหารที่คุณแม่รับประทานอยู่แล้ว
อัลตร้าซาวด์ทารก
ในช่วงของการตั้งท้องและเข้ารับการฝากครรภ์ การทำอัลตร้าซาวด์จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ภาพรวมของร่างกายทารกได้ รวมทั้งยังช่วยระบุเพศของทารกด้วยการใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงประมวลภาพทารกในครรภ์ออกมา
วัดการเจริญเติบโตของทารก
อีกเรื่องที่ต้องทำเมื่อเข้ารับการฝากครรภ์ก็คือวัดการเจริญเติบโตของทารก โดยแพทย์จะวัดการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ด้วยการคลำประเมินจากขนาดหน้าท้องที่ขยายขึ้นในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์
ฟังการเต้นของหัวใจทารก
เมื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ในไตรมาสที่ 2 แพทย์จะให้ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ โดยใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ (Doppler) จับจังหวะการเต้นของหัวใจทารกและประมวลผลออกมาเป็นเสียง หรือใช้หูฟังตรวจ (Strethtoscope)
ซึ่งแพทย์จะฟังเสียงหัวใจทารกเต้นเอง โดยทั่วไปแล้วจะได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นเมื่ออายุครรภ์ครบ 10-12 สัปดาห์
ประเมินการเคลื่อนไหว
เมื่ออายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มักดิ้นหรือถีบท้อง ซึ่งผู้ตั้งครรภ์บางรายที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็อาจพบว่าลูกดิ้นก่อนอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเกิดกรณีนี้ขึ้นกับคุณแม่
ตรวจท่าทางของทารกในครรภ์
เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์จะวัดน้ำหนักและตรวจท่าของทารกว่าหันศีรษะไปทางช่องคลอดหรือไม่ หากศีรษะของเด็กไม่หันไปทางช่องคลอด แพทย์จะอธิบายความเสี่ยงและแนะนำการผ่าตัด ร่วมกับอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจระดับน้ำคร่ำด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ข้อดีของการฝากครรภ์คุณภาพคืออะไร ต้องฝากครรภ์กี่ครั้ง?
กรณีครรภ์มีความเสี่ยง
จะเห็นได้ว่าการฝากครรภ์นั้นมีขั้นตอนและรายละเอียดของการตรวจแตกต่างกันไป แต่ก็เพื่อประโยชน์ทั้งกับแม่และทารกในครรภ์ เพราะทำให้ทราบถึงพัฒนาการต่างๆ ของลูกน้อยและความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ได้ค่ะ
สำหรับการฝากครรภ์ครั้งแรกของคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจอีกแต่ไปแล้วใช่ไหมคะ เพราะอ่านจนจบมาถึงท้ายบทความนี้ ก็สามารถไขข้อสงสัยได้แล้วว่าฝากครรภ์แต่ละครั้งตรวจอะไรบ้าง ทุกหัวข้อที่กล่าวมาจะช่วยคุณแม่คลายความกังวล ตื่นเต้น และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปฝากครรภ์ได้ดีขึ้น
บทความที่น่าสนใจ
- คลินิกสูตินรีเวช คลินิกฝากครรภ์โดยแพทย์เฉพาะทางสูติ
- ฝากครรภ์คุณภาพคืออะไร ฝากครรภ์กี่ครั้ง?
- วิธีดูแลตัวเองตอนท้องอ่อนๆ หรือเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรทําอย่างไร
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝากครรภ์
พญ.วรางคณา วิวัลย์ศิริกุล
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 23/05/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com