อาการติดหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน แถมยังพบได้ทุกเพศทุกวัยอีกด้วย เพราะน้ำตาลเป็นสารอาหารที่มีรสอร่อย และกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้รู้สึกดี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะติดหวาน และอยากกินของหวานอยู่ตลอดเวลา
แต่ถ้าชอบกินหวานมากเกินไป อาจเสี่ยงเป็นโรคติดหวานได้นะ!
หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินติดหวาน
- โรคติดหวาน คืออะไร?
- อาการติดหวานเป็นอย่างไร?
- คนชอบกินหวานจะเป็นเบาหวานไหม
- ทำไมกินหวานแล้วเวียนหัว
- กินน้ำหวานทุกวัน อันตรายไหม?
- ชอบกินอาหารติดหวาน ทำไงดี?
โรคติดหวาน คืออะไร?
โรคติดหวาน หรือที่เรียกว่า ภาวะการติดน้ำตาล (Sugar addiction) เป็นภาวะที่ร่างกายมีความต้องการน้ำตาลในระดับที่สูงจนผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เรารู้สึกอยากกินของหวานตลอดเวลา แม้ว่าจะเพิ่งกินของหวานไปได้ไม่นานก็ตาม โรคติดหวานอาจเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงเป็นประจำ เป็นต้น
- อยากกินแต่ของหวาน ๆ
- รู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย หากไม่ได้กินของหวาน
- กินคาวต้องกินหวาน หลังมื้ออาหารขาดของหวานไม่ได้
- ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ชานม ชาไข่มุก มากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน
- เติมน้ำตาลในอาหารเกือบทุกมื้อ
- กินของหวานปริมาณมาก ๆ ในครั้งเดียว
นอกจากนี้ ผู้ที่ชอบกินติดหวานอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกเหนื่อยล้า เพลียง่าย นอนหลับไม่สนิท รู้สึกไม่มีสมาธิ มีอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
คนชอบกินหวานจะเป็นเบาหวานไหม
คนชอบกินหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ เนื่องจากน้ำตาลเป็นสารอาหารที่ย่อยง่ายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ร่างกายจึงต้องผลิตอินซูลินออกมามากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ เมื่อร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป อาจทำให้เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้
ดังนั้น หากใครชอบกินหวานและสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ สามารถไปตรวจคัดกรองเบาหวานเบื้องต้นได้ที่ คลินิกใกล้ฉัน
ทำไมกินหวานแล้วเวียนหัว
การกินหวานมากเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายทำการหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น เพื่อที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยอินซูลินจะทำหน้าที่ในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่างๆของร่างกาย และเมื่อน้ำตาลถูกนำไปใช้หมดแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้รู้สึกเวียนหัว อ่อนเพลีย หงุดหงิด หรือกระสับกระส่ายได้นั่นเอง
กินน้ำหวานทุกวัน อันตรายไหม
การกินน้ำหวานทุกวันอันตรายแน่นอน เพราะน้ำหวานมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกมากมาย เช่น โรคอ้วน โรคฟันผุ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งบางชนิด และโรคเบาหวาน ดังนั้น ใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำหวานทุกวันเป็นประจำ ควรรีบไปตรวจคัดกรองเบาหวาน เพื่อควบคุมและป้องกันได้ทันเวลา
ชอบกินอาหารติดหวาน ทำไงดี
หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการติดหวาน สิ่งแรกที่ควรทำคือปรับพฤติกรรมการกิน ค่อย ๆ ปรับลดความหวาน เช่น
- ลดการซื้อของหวาน เครื่องดื่มรสหวาน มาตุนไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน
- สังเกตปริมาณน้ำตาลโดยควรอ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้อ
- สั่งเครื่องดื่มหวานน้อย
- งดและลดการปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหาร
วิธีลดการติดหวานนั้นต้องอาศัยความพยายามและวินัย โดยต้องค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมไปทีละน้อย อย่าคาดหวังว่าจะเลิกกินหวานได้ทันที แต่เชื่อเถอะว่าหากเราทำต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่ง จะสามารถปรับพฤติกรรมชอบกินหวานได้สำเร็จอย่างแน่นอน
บทความที่น่าสนใจ
อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 16/01/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com