หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม ระวังเป็นโรคหอบหืด! โรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง และรู้สึกแน่นหน้าอก ความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบเพิ่มขึ้นเมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกำเริบและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับโรคหอบหืด
โรคหอบหืด คืออะไร?
โรคหอบหืด หรือ โรคหืด (Asthma) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจมีเสียงหวีด ไอเรื้อรัง หายใจเหนื่อย และแน่นหน้าอก โดยอาการสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การออกกำลังกาย ฯลฯ จนก่อให้เกิดอาการกำเริบเฉียบพลันตามมา
โรคหืด กับ หอบหืด ต่างกันยังไง?
เป็นชื่อเรียกของโรคเดียวกัน โรคหืดเป็นโรคการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ต่อมาเมื่อมีอาการหอบจึงเรียกว่าโรคหอบหืด ซึ่งในผู้ป่วยโรคหืดบางรายอาจไม่มีอาการหอบ โดยอาการหอบจะเกิดในผู้ป่วยที่มีหลอดลมตีบรุนแรง
หอบหืด กับ ภูมิแพ้เหมือนกันไหม?
โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่วนโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกมีการอักเสบ ทำให้มีอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูก ซึ่งทั้งสองโรคเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แต่พยาธิสภาพของโรคจะเกิดคนละตำแหน่งของทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมักสัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืด ทั้งสองโรคจึงมักจะพบได้ร่วมกัน
หอบหืดเกิดจากอะไร?
โรคหืด หรือ โรคหอบหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้ผนังหลอดลมตีบหรือหดตัว อากาศจึงเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจเสียงหวีด, ไอเรื้อรัง, หายใจเหนื่อย และแน่นหน้าอก โดยอาการหอบจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีหลอดลมตีบรุนแรง
-
สารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น
-
ควันบุหรี่ ควันไฟ
-
การออกกำลังกายบางชนิด เช่น ว่ายน้ำ
-
สารก่อมลพิษในอากาศ เช่น ก๊าซพิษต่างๆ
-
การติดเชื้อไวรัส หวัด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ
วิธีสังเกตอาการโดยเบื้องต้น
-
อาการโรค ได้แก่ หอบเหนื่อย, หายใจไม่สุด, หายใจไม่อิ่ม, แน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงหวีด โดยอาจจะแสดงอาการดังกล่าวเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
แสดงอาการเป็นๆหายๆ โดยมักมีอาการในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด หรืออาการมักสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อากาศเย็น เป็นต้น
-
เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายระบบหายใจ ได้ยินเสียงหวีดหรือเสียงวี้ด
-
มีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้
-
ไม่มีอาการทางคลินิกที่ทำให้สงสัยโรคอื่น
-
มีการตอบสนองหลังรักษาด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ อย่างน้อย 4 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าอาการทางคลินิกเข้าได้กับโรคหอบหืด
ระดับของอาการและความรุนแรง
ประเมินความระดับอาการก่อนรักษา โดยอาศัยจากอาการเริ่มต้น
-
ระดับ 1 ความรุนแรงน้อยมาก มีอาการหอบน้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ไม่มีอาการกลางคืน ตรวจสมรรถภาพปอดปกติ
-
ระดับ 2 ความรุนแรงน้อย มีอาการหอบน้อยกว่า 4-5 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีอาการกลางคืน ตรวจสมรรถภาพปอดปกติ
-
ระดับ 3 ความรุนแรงปานกลาง มีอาการหอบเกือบทุกวัน มีอาการกลางคืนมากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
-
ระดับ 4 ความรุนแรงมาก มีอาการหอบทุกวัน มีอาการกลางคืนมากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตรวจสมรรถภาพปอดให้ผลผิดปกติ
ประเมินความรุนแรงของโรคหลังจากการรักษา
แนะนำให้ประเมินความรุนแรงของโรคหอบหืดภายหลังได้รับการรักษาด้วยยาควบคุมโรคที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน โดยความรุนแรงของโรคสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลาและการรักษา โดยแบ่งเป็น
-
อาการรุนแรงน้อย หมายถึง โรคควบคุมได้ด้วยยาพ่นสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำแบบใช้เป็นประจำ (low dose ICS) หรือยาพ่นสูด ICS/ formoterol เมื่อมีอาการกำเริบ
-
อาการรุนแรงปานกลาง หมายถึง โรคควบคุมด้วยยาพ่นสูดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดต่ำถึงปานกลาง (low to medium-dose ICS / LABA
-
อาการรุนแรงมาก หมายถึง โรคที่ต้องใช้ยาพ่นสูดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดสูง (high dose ICS /LABA) แล้วยังควบคุมโรคได้ไม่ดี ทั้งที่ใช้ยาถูกต้องและต่อเนื่อง
การวินิจฉัย
ในการวินิจฉัยแพทย์จะอาศัยจากการซักประวัติของผู้ป่วย อาการทางคลินิก การตรวจร่างกาย หรือการตรวจสมรรถภาพปอด โดยไม่มีอาการหรือวิธีการทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ให้การวินิจฉัยโรคได้เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้แพทย์จะประเมินร่วมกันจากการตรวจต่างๆตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งอาการของโรคหอบหืดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการตรวจประเมินแต่ละครั้งอาจจะให้ผลที่แตกต่างกันออกไป
การเอกซเรย์ปอดในโรคหอบหืด |
วิธีการรักษา
การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
-
ยาควบคุมอาการของโรค (Controller) ประกอบด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ ซึ่งลดการอักเสบของหลอดลม ควบคุมอาการโรคหอบหืด ช่วยลดอาการกำเริบเฉียบพลัน เป็นยาควบคุมอาการที่ต้องใช้ทุกวัน
-
ยาบรรเทาอาการ (Reliever) ประกอบด้วยยาพ่นสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น โดยใช้ยาเมื่อมีอาการกำเริบ หรือที่นิยมเรียกกันว่ายาพ่นฉุกเฉิน
การปรับยาและการจ่ายยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาเองหรือหยุดยาเอง ผู้ป่วยโรคหอบหืดทุกรายควรได้รับยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอและยาบรรเทาอาการเมื่อมีอาการกำเริบ ซึ่งผู้ป่วยควรพ่นยาด้วยวิธีที่ถูกต้องตามที่แพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกรแนะนำ
ตัวอย่างเคสที่เคยพบ เป็นเคสผู้ชายอายุ 15 ปี มารักษาด้วยอาการหอบซ้ำหลายครั้งในช่วง 1 ปี โดยได้รับการพ่นยาขยายหลอดลมทุกครั้ง แต่ยังมีอาการหอบซ้ำ เมื่อซักประวัติพบว่าคนไข้ซื้อยาเองไม่ได้พบแพทย์ และมีการพ่นยาไม่ถูกวิธี และมีเพียงยาฉุกเฉินตัวเดียว ซึ่งคนไข้ซื้อมาใช้เอง ไม่เคยได้รับยาพ่นเพื่อควบคุมอาการไปใช้ที่บ้านเลย
แพทย์จึงได้ทำการปรับการรักษา โดยเพิ่มยาควบคุมอาการและสอนวิธีการพ่นยาที่ถูกต้อง หลังจากนั้นพบว่าอาการดีขึ้น เดือนต่อมาอาการหอบก็กำเริบน้อยลง จนในปีต่อมาแทบจะไม่มีอาการกำเริบเลย
จากเคสนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาหลักของผู้ป่วยเกิดขึ้นจากการที่คนไข้บางส่วนคิดว่า โรคหอบหืดสามารถซื้อยาใช้เองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ซึ่งจริงๆแล้วควรให้แพทย์ประเมินทั้งก่อนและหลังการรักษา รวมถึงคนไข้ที่พ่นยาไม่ถูกวิธีก็จะยังคงมีอาการกำเริบเรื่อยๆ หากแก้ไขได้ก็ทำให้คนไข้ตอบสนองต่อการรักษามากขึ้น
– พญ.นลพรรณ พิทักษ์สาลี แพทย์ประจำคลินิก –
โรคหอบหืด รักษาหายหรือไม่
โรคนี้อาจรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการกำเริบได้ ผู้ป่วยในขณะที่ไม่มีอาการกำเริบสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรพึงระวังปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นอาการให้กำเริบ ซึ่งเป้าหมายในการรักษา ได้แก่
-
การควบคุมอาการของโรค ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบเหนื่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีการใช้ยาพ่นฉุกเฉิน สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
-
การป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เช่น การกำเริบของโรค การเสื่อมของสมรรถภาพปอด และอาการข้างเคียงจากการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
วิธีบรรเทาหากอาการหอบหืดกำเริบ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาพ่นฉุกเฉินบรรเทาอาการทันที สามารถพ่นซ้ำได้ 2-3 ครั้ง หากหลังพ่นยาขยายหลอดลมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ
หากกรณีที่ไม่มียาในขณะนั้นควรทำอย่างไร
ผู้ป่วยควรออกจากสถานที่ที่อาจมีสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจโดยทันที และให้ผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์สาขาใกล้คุณ: สาขาที่เปิดให้บริการทั้งหมดของอินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
การป้องกันโรคหอบหืด
-
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงฝุ่นในบ้าน ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ฯลฯ
-
ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้โดยตรง
-
งดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
-
หลีกเลี่ยงยาหรืออาหารบางชนิดที่อาจจะทำให้มีอาการกำเริบ เช่น กรณีแพ้อาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆจะช่วยลดอาการหอบหืดได้
-
ฉีดวัคซีนประจำปี ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ
สรุป
โรคหอบหืดเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด ไอเรื้อรัง และรู้สึกแน่นหน้าอก อาการกำเริบมักเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร การติดเชื้อไวรัส และอากาศเย็น
“การป้องกันและดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอาการของโรค ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รักษาความสะอาดในบ้าน งดสูบบุหรี่ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาพ่นสเตียรอยด์อย่างสม่ำเสมอและมียาบรรเทาอาการฉุกเฉินติดตัวเสมอเพื่อรับมือกับอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้น”
เอกสารอ้างอิง
-
Ish P,Malhotra N, Gupta N. GINA 2020 (Global Initiative for Asthma)
-
แนวทางวินิจฉัยและบำบัดโรคหืดในผู้ใหญ่ สำหรับอายุรแพทย์และแพทย์ทั่วไปในประเทศไทย พ.ศ.2566 สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
พญ.นลพรรณ พิทักษ์สาลี
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 20/07/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com