ตรวจเลือด HIV หรือ ตรวจ HIV เป็นวิธีทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลและเป็นวิธีตรวจหาเชื้อ HIV ที่มีความแม่นยำมากที่สุด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาเชื้อไวรัส HIV ได้โดยตรง
แต่การตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นช่วยลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนอันตรายอย่างโรคเอดส์ (AIDs) รวมถึงช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังบุคคลใกล้ตัวโดยไม่ได้ตั้งใจได้อย่างเห็นผล โดยเราสามารถเลือกตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป หรือคลินิกตรวจ HIV ใกล้ฉัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ใครบ้างที่ควรตรวจ HIV? ตรวจ HIV หลังเสี่ยงกี่วัน? ตรวจแล้วต้องรอผลกี่วัน บทความนี้จากอินทัชเมดิแคร์มีคำตอบ
ตรวจ HIV คืออะไร
การตรวจ HIV คือ การตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกาย โดยมีวิธีการตรวจและเทคนิคทางห้องปฏิบัติการหลายวิธี แตกต่างกันไปโดยขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาที่ได้รับเชื้อ ความแม่นยำ ความสะดวกสบาย ชนิดของสารคัดหลั่ง เป็นต้น
โดยเชื้อ HIV เป็นเชื้อไวรัส ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด สามารถพบเชื้อ HIV ได้ในเลือด , สารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด เป็นต้น ปัจจุบันมักตรวจหาโดยการเจาะเลือด และมีชุดตรวจด้วยตนเองบางชนิดที่สามารถตรวจจากน้ำในช่องปากได้
วิธีการตรวจเลือด HIV มีกี่แบบ
การตรวจ HIV จากการตรวจเลือด มีวิธีการตรวจและเทคนิคทางห้องปฏิบัติการหลายวิธี โดยหลักการของแต่ละวิธีการตรวจคือ เราสามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรง (HIV Ag), ตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นตอบสนองการติดเชื้อเอชไอวี (AntiHIV) หรือ ตรวจทั้งสองวิธีคู่กัน (AntiHIV + HIV Ag) โดยแต่ละวิธีจะแตกต่างกันที่ความแม่นยำและช่วงเวลาตรวจไม่พบเชื้อหลังได้รับเชื้อ (Window period)
ช่วงเวลาตรวจไม่พบเชื้อหลังได้รับเชื้อ (Window period) คือ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีมาหลังมีเพศสัมพันธ์ ตัวเชื้อไวรัสจะค่อยๆแบ่งตัวเพิ่มขึ้น โดยในช่วงแรกที่ไวรัสแบ่งตัว ปริมาณเชื้อในเลือดยังไม่เยอะมาก และ ยังไม่สามารถตรวจพบได้จากชุดตรวจ ดังนั้น ผู้ป่วยควรเลือกวิธีการตรวจให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ได้รับเชื้อ หากเลือกชุดตรวจที่มี window period นานเกินไป อาจยังตรวจไม่พบเชื้อแม้ว่าจะได้รับเชื้อมาแล้ว
ชุดตรวจรุ่นที่ 4 (4th Generation serology assays)
เป็นชุดตรวจที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยเป็นชุดตรวจที่สามารถตรวจได้ทั้งภูมิคุ้มกันและสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีในชุดตรวจเดียวกัน (แอนติบอดีและแอนติเจน) จึงมีความแม่นยำและความไวสูง (99.5 % และ 99.8%)
มีช่วงเวลาตรวจไม่พบเชื้อ (window period) สั้น โดยสามารถตรวจพบเชื้อหลังได้รับเชื้อได้ตั้งแต่ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์
ชุดตรวจรุ่นที่ 3 (3rd Generation serology assays)
โดยเป็นชุดตรวจที่ตรวจภูมิคุ้มกันของเชื้อเอชไอวี (แอนติบอดี) อย่างเดียว มีความแม่นยำและความไวสูง (99.5 % และ 99.5%) โดยสามารถตรวจพบเชื้อหลังได้รับเชื้อได้ตั้งแต่ 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์
เป็นชุดตรวจที่นิยมใช้ในปัจจุบันเช่นกัน เนื่องจากหาตรวจง่ายและราคาถูกกว่ารุ่นที่ 4 แต่มีช่วงเวลาตรวจไม่พบเชื้อ (window period) นานกว่ารุ่นที่ 4
ชุดตรวจรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 และชุดตรวจแบบตรวจด้วยตนเอง (Self test)
โดยเป็นชุดตรวจที่ตรวจภูมิคุ้มกันของเชื้อเอชไอวี (แอนติบอดี) อย่างเดียว มีความแม่นยำและความไวที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 90 – 95 % ขึ้นไป) แต่ใช้เพื่อคัดกรองอย่างเดียวไม่สามารถใช้เพื่อยืนยันวินิจฉัยการติดเชื้อได้ มักมีช่วงเวลาตรวจไม่พบเชื้อ (window period) นานกว่า ตรวจพบเชื้อหลังได้รับเชื้อได้ตั้งแต่ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วแต่ยี่ห้อ
เป็นชุดตรวจที่ผู้ป่วยมักใช้เพื่อตรวจด้วยตนเองและปัจจุบันมีหลากหลายยี่ห้อ ข้อดี คือสามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก และลดความเขินอายในการมาโรงพยาบาล มักไม่ใช้ในสถานพยาบาล
และหากผลขึ้นเป็นบวก ผู้ป่วยจำเป็นต้องยืนยันการติดเชื้อที่สถานพยาบาลอีกครั้งด้วยชุดตรวจรุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 4 อีกครั้ง
หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ แนะนำตรวจเอชไอวีด้วยชุดตรวจรุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 4 ที่สถานพยาบาลเลยจะดีกว่า เนื่องจากการตรวจด้วยตนเองอาจมีความผิดพลาดได้จากเทคนิคการตรวจหรือการเก็บตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง
“หมอพบเคสผู้ป่วยได้รับการตรวจครั้งแรกด้วยชุดตรวจรุ่นที่ 3 ผลไม่พบการติดเชื้อ แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงชัดเจนในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงแนะนำให้ตรวจด้วยชุดตรวจรุ่นที่ 4 ซ้ำอีกครั้งในวันเดียวกัน ผลพบการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็วขึ้น และไม่พบผลข้างเคียงจากเชื้อเอชไอวี “
– แพทย์หญิงณัฐวดี ศรีบริสุทธิ์ แพทย์ประจำอินทัชเมดิแคร์คลินิก –
กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจเลือด HIV
-
มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน (ไม่สวมถุงยางอนามัย) หรือ ถุงยางอนามัยแตก ถุงยางอนามัยฉีกขาด
-
มีประวัติเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
-
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
-
ชายหรือหญิงที่ทำงานบริการทางเพศ
-
ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 3 เดือน หรือมีประวัติใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดอื่นๆ ร่วมกับผู้อื่น
-
มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ HIV
-
ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือมีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ หรือจำเหตุการณ์ไม่ได้
-
กลุ่มที่ทำงานทางด้านการแพทย์หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือเลือดของผู้อื่น
-
ทารกจากครรภ์มารดาที่มีเชื้อ HIV
หากไม่มั่นใจว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่แนะนำปรึกษาแพทย์
ตรวจเลือด HIV ที่อินทัชเมดิแคร์ รู้ผลเร็ว ข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ มั่นใจได้
การเตรียมตัวก่อนตรวจ HIV
- เตรียมข้อมูลเพื่อตอบคำถามประเมินความเสี่ยง เช่น ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดโดยควรเข้าตรวจหลังจากได้รับความเสี่ยงมาแล้วอย่างน้อย 14-30 วัน การป้องกัน ประวัติการใช้ยาและโรคประจำตัว เพื่อแพทย์จะได้ให้คำแนะนำก่อนตรวจและวิธีการตรวจอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ก่อนเข้ารับการตรวจเลือดกับทางโรงพยาบาล คลินิกตรวจเลือด HIV เจ้าหน้าที่หรือแพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อประเมินหาความเสี่ยงพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้น จากนั้นผู้เข้ารับบริการจะต้องลงชื่อยินยอมในเอกสารเพื่อเริ่มขั้นตอนการตรวจหาเชื้อ HIV โดยใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที จากนั้นให้คำแนะนำหลังผลตรวจออกอีกครั้ง
- สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
หลังจากมีความเสี่ยงกี่วันถึงจะตรวจ HIV ได้
จะสามารถตรวจ hiv หลังเสี่ยงกี่วัน? มักเป็นคำถามที่สงสัยกันบ่อยๆ สามารถตรวจได้ดังนี้
-
วิธีตรวจแบบชุดตรวจรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 และชุดตรวจแบบตรวจด้วยตนเอง (Self test) ขึ้นอยู่กับยี่ห้อมักตรวจพบเชื้อหลังรับเชื้อ ได้ตั้งแต่ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์ขึ้นไป
-
วิธีตรวจแบบชุดตรวจรุ่นที่ 3 (3rd Generation serology assays) สามารถตรวจพบเชื้อหลังรับเชื้อ ได้ตั้งแต่ 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์
-
วิธีตรวจแบบชุดตรวจรุ่นที่ 4 (4th Generation serology assays) สามารถตรวจพบเชื้อหลังรับเชื้อ ได้ตั้งแต่ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์
-
วิธีตรวจแบบ HIV Nucleic acid testing assay หรือ NAT สามารถตรวจพบเชื้อหลังรับเชื้อ ได้ตั้งแต่ 10 วัน