การถอดห่วงคุมกำเนิดหรือถอดห่วงอนามัยนั้น สามารถถอดได้เลยตามที่คุณผู้หญิงต้องการ ทั้งเหตุผลส่วนตัวที่ต้องการมีบุตร หรือเหตุผลเกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วย รวมทั้งการได้รับผลข้างเคียงที่ยากที่จะอดทนได้ต่อไป โดยต้องได้รับการการวินิจฉัยและทำการถอดห่วงอนามัยจากแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและได้รับการถอดอย่างถูกต้อง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการถอดห่วงอนามัย
การถอดห่วงอนามัย คืออะไร
เป็นการถอดห่วงอนามัยคุมกำเนิดออกจากช่องคลอด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดจนครบกำหนด 3-10 ปี (ขึ้นกับชนิดของห่วงคุมกำเนิด) แพทย์จะทำการถอดห่วงอนามัยคุมกำเนิดออกตามกำหนด
โดยการสอดเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดเข้าไปเพื่อเปิดดูปากมดลูกและสายห่วงและทำความสะอาดปากมดลูกและช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใช้คีมคีบปากแคบดึงสายห่วงช้า อย่างนุ่มนวลจนกระทั่ง ห่วงอนามัย ทั้งอันโผล่พ้นปากมดลูก
วิธีการถอดห่วงอนามัยมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
-
ทำความสะอาดบริเวณภายนอก
-
แพทย์จะใส่ speculum เพื่อสังเกต สายของห่วงคุมกำเนิดบริเวณปากมดลูก
-
ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด
-
แพทย์ใช้ forceps จับหางห่วงทั้งสองเส้นที่ตำแหน่งชิดกับปากมดลูกที่สุด แล้วค่อยๆ ทำการดึงห่วงออกมา ทำการตรวจห่วงว่าครบทุกส่วนหรือไม่
-
ในกรณีที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยห่วงคุมกำเนิดต่อ สามารถทำการใส่ห่วงใหม่ต่อได้เลย
หากต้องการถอดห่วงอนามัยจะต้องทำอย่างไร
-
สามารถนัดหมายแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกโดยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวใดๆเป็นพิเศษ
-
แจ้งแพทย์ถึงชนิดของห่วงคุมกำเนิดที่ใส่เอาไว้ และระยะเวลาที่ใส่
ปกติการถอดห่วงอนามัย เป็นการทำหัตถการที่จะทำช่วงไหนของเดือนก็ได้ แต่การถอดห่วงอนามัยทำได้ง่ายขณะมีประจำเดือนเพราะปากมดลูกอ่อนนุ่มตามธรรมชาติ ในกรณีมดลูกทะลุหรือถอดห่วงอนามัยออกยาก (เช่น เมื่อสายห่วงหายไป) ส่งต่อผู้รับบริการไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถใช้เทคนิคการถอดห่วงอนามัยที่เหมาะสม
หลังถอดห่วงอนามัย สามารถมีบุตรได้เลยหรือไม่
-
สามารถมีบุตรได้ทันทีเลย เนื่องจากห่วงคุมกำเนิดไม่มีฮอร์โมนมารบกวนต่อรอบการตกไข่ (ชนิดที่มีฮอร์โมนก็จะมีในระดับที่ต่ำ ไม่รบกวนต่อการตกไข่)
การเปลี่ยนจากห่วงอนามัยคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น
แนวทางปฏิบัตินี้จะช่วยให้ผู้รับบริการได้รับการป้องกันจากการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องเมื่อถอดห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น
-
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (COC) ,ชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว (POP) ,ฉีดยาคุมกำเนิด ,แผ่นแปะคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ,วงแหวนใส่ช่องคลอด, ยาฝังคุมกำเนิด
-
ใส่ถุงยางอนามัยชายหรือถุงอนามัยสตรี, หมวกยางกั้นช่องคลอด ,หมวกยางครอบปากมดลูก หรือการหลั่งภายนอกช่องคลอด
-
นับระยะปลอดภัย
-
การทำหมันสตรี
-
การทำหมันชาย
เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมน : ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (COC) ,ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด โปรเจสตินอย่างเดียว (POP), ยาฉีดคุมกำเนิดชนิด 1 เดือน , แผ่นแปะคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม, วงแหวนใส่ซ่องคลอดหรือยาฝังคุมกำเนิด
เริ่มใช้ยาเมื่อ
-
ถ้าเริ่มในช่วง 7 วันแรกที่มีประจำเดือน (5 วันแรกสำหรับ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม และ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว เริ่มใช้วิธีคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมนได้ในขณะนี้ และถอดห่วงอนามัยออก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
-
ถ้าเริ่มหลังจาก 7 วันแรกที่มีประจำเดือน (หลังจาก 5 วันแรกสำหรับ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม และ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว) และมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่มีประจำเดือนเมื่อเดือนที่ผ่านมา เริ่มใช้วิธีคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมนได้ในขณะนี้ แนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยต่อไปจนกระทั่งประจำเดือนมาในรอบถัดไป
-
ถ้าเริ่มหลังจาก 7 วันแรกที่มีประจำเดือน (หลังจาก 5 วันแรกสำหรับ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม และ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสดินอย่างเดียว และไม่ได้มีพศสัมพันธ์ตั้งแต่มีประจำเดือนเมื่อเดือนที่ผ่านมา แนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยต่อไปและถอดห่วงอนามัยออกช่วงมีประจำเดือนในรอบเดือนถัดไป หรือถอดห่วงอนามัยแล้วใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย ในช่วง 7 วันถัดไป (2 วันสำหรับ ยาเม็ดคุม
กำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว)
เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็น : ใส่ถุงยางอนามัยชายหรือถุงอนามัยสตรียาฆ่าตัวอสุจิ หมวกยางกั้นช่องคลอด หมวกยางครอบปากมดลูก หรือการหลั่งภายนอกช่องคลอด
เริ่มใช้ยาเมื่อ : ใช้ครั้งต่อไปเมื่อมีเพศสัมพันธ์หลังถอดห่วงอนามัยแล้ว
เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็น : นับระยะปลอดภัย
เริ่มนับในช่วงรอบเดือนเดียวกับที่มีการถอดห่วงอนามัย
เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นการทำหมันสตรี
-
ถ้าเริ่มในช่วง 7 วันแรกที่มีประจำเดือนถอดห่วงอนามัยออก และทำหมันสตรีได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
-
ถ้าเริ่มหลังจาก 7 วันแรกที่มีประจำเดือน สามารถทำหมันได้แต่ยังคงใส่ห่วงอนามัยต่อไปจนถึงวันนัดตรวจติดตามอาการหรือช่วงมีประจำเดือนในรอบเดือนถัดไป หากการนัดติดตามอาการภายหลังเป็นไปไม่ได้ เมื่อทำหมันเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ถอดห่วงอนามัยออก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นการทำหมันชาย
-
ทำเมื่อใดก็ได้ *สตรียังคงใส่ห่วงอนามัยอยู่จนกระทั่งผลการตรวจน้ำอสุจิของฝ่ายชายยืนยันว่าการทำหมันชายประสบผลสำเร็จ หรือรอจนครบ 3 เดือนเมื่อการทำหมันชายมีประสิทธิภาพเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
1. การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด (Family planning and contraception), อุษณีย์ แสนหมี่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. Intrauterine devices: ห่วงอนามัย, น.พ. ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์ และอ. พ.ญ. ทวิวัน พันธศรี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์, หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. คู่มือวางแผนครอบครัว, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย
นายแพทย์จิตรทิวัส อำนวยผล
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 04/02/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com