เอกซเรย์ปอด (Chest x-ray) สามารถบอกอะไรได้บ้าง ทำไมถึงมีความสำคัญ

เอกซเรย์ปอด นั้นถือเป็นหัตถการที่ไม่ใช่แค่การตรวจหาความผิดปกติที่บริเวณปอดเท่านั้น แต่เป็นการตรวจอวัยวะบริเวณทรวงอกที่ครอบคลุมตั้งแต่ปอด หัวใจ และอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งล้วนเป็นอวัยวะภายในที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย

อีกทั้งการอ่านผล Chest x-ray สามารถมองเห็นสภาพของปอดปกติ และปอดผิดปกติหรืออวัยวะใกล้เคียง ที่เราไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ เช่น ปอดมีจุดขาว ฝ้าในปอด เงาหัวใจ เป็นต้น และวิธีการตรวจนั้นก็มีความปลอดภัย และรวดเร็วมาก ผู้รับการตรวจจึงไม่จำเป็นต้องกังวล

หัวข้อที่น่าสนใจ

เอกซเรย์ปอดสำคัญอย่างไร?

เอกซเรย์ปอดสำคัญอย่างไร

การเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR) ถือเป็นการคัดกรอง (Screening) ที่สำคัญ โดยจะทำการเอกซเรย์ที่บริเวณทรวงอก เพื่อเช็คดูภาวะที่ร่างกายของเรายังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นได้ เช่น

  • ก้อนที่ปอด ในระยะเริ่มต้น

  • ขนาดของหัวใจโต

  • การติดเชื้อที่กำลังเป็นอยู่ ( ซึ่งมักมาร่วมกับอาการแสดง เช่น มีไข้ ไอ เหนื่อยมา 1 สัปดาห์ )

  • ผู้ป่วยบางรายที่ไอเรื้อรัง เป็นๆหายๆมา หลายเดือน ร่วมกับน้ำหนักลด ก็สามารถพบ ‘วัณโรคปอด’ ได้จากการเอกซเรย์ปอด

ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอด

ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอดมีหลายข้อด้วยกัน ได้แก่

เอกซเรย์ปอด ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน

กรณีเอกซเรย์ปอด เพื่อการคัดกรองสุขภาพร่างกายก่อนเข้าทำงาน

การเอกซเรย์ปอดจะช่วยคัดกรองในเรื่องของก้อนในปอด, ขนาดหัวใจโต, ร่องรอยของการเคยติดเชื้อ (วัณโรค , COVID ระยะลงปอด ที่ทิ้งพังผืดไว้) และความเสียหายที่อาจเริ่มพบจากภาพ X-ray ก่อนที่จะแสดงอาการ ในกลุ่มของคนไข้ที่สูบบุหรี่เรื้อรัง

เอกซเรย์หาความรุนแรงของอาการไอ

กรณีร่างกายกำลังมีการแสดงอาการ

การเอกซเรย์จะมีประโยชน์ในการช่วยหาสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอาการไอ จะช่วยในการหาสาเหตุของโรคที่เป็นได้ว่า มีอาการอยู่ในระดับที่รุนแรงเพียงใด

Chest X-ray หลังได้รับอุบัติเหตุ

กรณีมีอุบัติเหตุที่ได้รับความบาดเจ็บบริเวณทรวงอก

ในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุ สามารถ Chest x-ray เพื่อเช็คดูว่ากระดูกซี่โครงหัก, เยื่อหุ้มปอดแตกมีลมรั่ว (Traumatic Pneumothorax) เป็นต้น

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานคลิกเลย

Chest X-ray สามารถมองเห็นอะไรได้บ้าง

  • ภาพ 2 มิติ ของ ปอดสองข้าง

  • เงาหัวใจ สามารถบอกขนาดของหัวใจได้

  • กระดูก แบ่งเป็น กระดูกซี่โครง ไหปลาร้า กระดูกสันหลังส่วนช่วงอก

  • เงาของกะบังลม

  • กรณีมีภาวะ หัวใจล้มเหลว สามารถเห็นเงาน้ำส่วนเกินในเยื่อหุ้มปอดได้


การตรวจ Chest X-ray เหมาะกับใครบ้าง

การตรวจ chest x-ray นั้นเหมาะกับการตรวจในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น

  • ผู้ที่ตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนเข้าทำงาน 

  • ผู้ที่ตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปี 

  • บุคคลที่มีความเสี่ยงต่างๆ  เช่น กำลังมีอาการไอ โดยเฉพาะ ไข้ ไอ มีเสมหะ ติดต่อกัน 3-4 วัน, ไอเรื้อรัง , สูบบุหรี่จัด (รวมไปถึงผู้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ) ,ผู้ป่วยโรคหัวใจ , ผู้ทำงานในพื้นที่ที่มีมลภาวะและสารพิษ เช่น เหมือง, แร่ เป็นต้น 

ขั้นตอนการตรวจ

ขั้นตอนการเอกซเรย์ปอดมีดังนี้

ขั้นตอนการเอกซเรย์ปอด

  1. เปลี่ยนไปสวมชุดที่ทางคลินิกเตรียมเอาไว้ให้ และถอดเครื่องประดับออกด้วย เช่น สร้อย ต่างหู เข็มขัด หรือเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ (กรณีคุณผู้หญิง ต้องถอดเสื้อชั้นในออก และรวบผมขึ้นให้พ้นบริเวณต้นคอ) 

  2. ยืนที่บริเวณหน้าเครื่องตรวจ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดท่าทางก่อนทำการฉายรังสี X-ray

  3. รอเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้สัญญาณผู้รับการตรวจ โดยนับ 1, 2, 3 แล้วหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจ 3-5 วินาที เพื่อให้ฉายรังสี จากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าหายใจได้

  4. เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจ X-ray แล้ว สามารถเปลี่ยนชุด แล้วรอฟังผลจากแพทย์ได้เลย โดยภาพและผลอ่าน จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที หลังตรวจเท่านั้น

การอ่านผล

ตัวอย่างการอ่านผลการเอกซเรย์ปอดปกติ ปอดมีจุดขาว หรือปอดผิดปกติ

ภาพตัวอย่างฟิล์มเอกซเรย์ปอด

ปอดปกติ

  • การอ่านผลฟิล์มเอกซเรย์ในปอดปกติ จะสามารถสังเกตได้ดังนี้ คือ ที่บริเวณปอดจะไม่มีจุด ไม่มีพังผืด ไม่มีน้ำในปอด ไม่มีลมรั่วในปอด

  • ตัวอย่างในภาพ จุด (A) เป็นปอดปกติ แต่ในกรณีของจุด (B) อาจเป็นได้ทั้งปอดปกติหรือขนาดหัวใจโต ทั้งนี้ต้องดูน้ำหนักตัวคนไข้ด้วย

ตัวอย่างภาพเอกซเรย์ปอด พบจุดขาวในปอด

ปอดมีจุดขาว

  • ในกรณีที่ตรวจผลฟิล์มเอกซเรย์แล้วพบว่าปอดมีจุดขาว หากอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ อาจแสดงถึง ก้อนในปอดระยะเริ่มต้น หรือร่องรอยของการเคยติดเชื้อวัณโรค ทั้งนี้การที่ปอดมีจุดขาวขึ้นอยู่กับประวัติและอาการแสดง รวมถึงต้องมีการตรวจร่างกายร่วมด้วย

ตัวอย่าง เอกซเรย์แล้วพบก้อนในปอด

ปอดผิดปกติ

ปอดผิดปกติสามารถพบได้หลายกรณีตัวอย่าง เช่น

  • มีฝ้าในปอด กรณีมีอาการร่วม เช่น มีไข้, ไอ  หรือมีเสมหะ อาจเกิดได้จากการติดเชื้อในเยื่อหุ้มปอด หรือปอดบวม เป็นต้น 

  • มีก้อนในปอด หรือมีผังผืดมากขึ้น อาจสัมพันธ์กับ การสูบบุหรี่ หรือ รับควันบุหรี่ สะสมเป็นระยะเวลานาน

หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้เป็นเพียง การยกตัวอย่าง ทุกรายละเอียดจะต้องสัมพันธ์กับประวัติและการตรวจร่างกายคนไข้ ตามแต่ละบุคคล


คำถามที่พบบ่อย

ต้องงดอาหารหรือไม่

  • ตอบ: การตรวจเอกซเรย์ปอด ไม่จำเป็นต้องงดการรับประทานอาหาร ผู้รับบริการสามารถรับประทานอาหารได้ตกปกติ 

 

ทำไมถึงควรหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่มีโลหะตอนเข้ารับบริการ

  • ตอบ: เพราะโลหะจะไปรบกวนรายละเอียดภาพถ่ายฟิล์ม X-ray ได้ครับ โดยเมื่อฉายรังสี จะพบว่าเงาสีขาวของโลหะแล้วแต่ชนิด ซึ่งจะบดบัง เนื้อปอด หรือ เงาหัวใจได้ครับ 

 

มีผลข้างเคียงหรือไม่

  • ตอบ: การตรวจเอกซเรย์ปอดมีผลข้างเคียงแต่น้อยมาก เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจ X-ray ต่ำ ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่ำมาก ซึ่งน้อยกว่า 1 ใน ล้าน

 

รอผลนานไหม

  • ตอบ: การรอผลไม่นาน เพียงไม่กี่นาทีหลังฉายรังสี ทั้งนี้ขึ้นกับอาการแสดงและประวัติของผู้เข้ารับการตรวจ

 

การเอ็กซเรย์ปอดมีผลกับการตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไร

  • ตอบ: มีผลต่ำ โดยจากงานวิจัย พบว่าปริมาณรังสีจะเสี่ยงต่อทารก เมื่อทำการ X-ray สะสม มากกว่า 70,000 ครั้ง ขึ้นไป โดยหากเป็นการ X-ray หลังอายุครรภ์ 17 สัปดาห์ นั้นแทบไม่มีความเสี่ยงเลย

 

ทำไมต้องเอ็กซเรย์ปอดก่อนผ่าตัด

  • ตอบ: ทำไมต้องเอกซเรย์ปอดก่อนผ่าตัด หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การคัดกรองวัณโรค เนื่องจาก หลายๆกรณี การผ่าตัด หากมีการใส่ท่อช่วยหายใจ จะเป็นการทำให้วัณโรคฟุ้งกระจาย และเสี่ยงต่อทีมแพทย์และพยาบาล ทั้งทีมผ่าตัดและดมยา รวมถึงยังคัดกรองการติดเชื้อปอด ขนาดหัวใจ ก่อนการผ่าตัดอีกด้วย

บทสรุป

การเอกซเรย์ปอดเป็นการตรวจอวัยวะบริเวณทรวงอก ซึ่งเป็นวิธีการตรวจทางการแพทย์ ที่มีประโยชน์ ทำได้รวดเร็ว รู้ผลเร็ว ปลอดภัย และยังให้รายละเอียดที่สำคัญในการวางแผนการรักษาได้ดี

คำแนะนำเกี่ยวกับการเอกซเรย์ปอด โดยแพทย์ประจำคลินิกอินทัชเมดิแคร์

อีกทั้งปัจจุบันความเสี่ยงทางด้านมลภาวะ PM2.5 สูงมากขึ้น ยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด แต่เริ่มมีตัวเลข ที่ค่อยๆมีนัยสำคัญว่า ”อาจจะ” เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดได้จริง

“ดังนั้น แม้จะยังไม่มีอาการ หากมีโอกาสได้ตรวจคัดกรองเอกซเรย์ปอด ก็จะมีประโยชน์ในการเช็กสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงคัดกรองก้อนในปอดในระยะเริ่มต้น ซึ่งหากเจอไว ก็จะรักษาได้ไว ทำให้ไม่ลุกลามนั่นเองครับ”

– นายแพทย์พันไมล์ เปรมัษเฐียร (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำคลินิก) –

เอกสารอ้างอิง

  • X-Rays, Pregnancy and You, FDA

  • Chest X-Ray, Johns Hopkins University School of Medicine

  • Alveolar deposition of inhaled fine particulate matter increased risk of severity of pulmonary tuberculosis in the upper and middle lobes

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

 Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

    

 @qns9056c

 อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

 แก้ไขล่าสุด : 19/06/2024

อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com