เล็บเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยปกป้องนิ้วมือของเรา หากเมื่อไหร่ที่เล็บมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น เล็บฉีก เล็บหลุด เล็บหัก เล็บขบ หรือเล็บมีเชื้อรา ควรทำไปพบแพทย์ เพื่อประเมินว่าควรถอดเล็บที่มีปัญหานั้นออกหรือไม่ เพื่อป้องกันอันตราย ทั้งนี้การถอดเล็บจะขึ้นอยู่กับอาการด้วย
หัวข้อเกี่ยวกับการถอดเล็บ
ทำไมต้องถอดเล็บ
สาเหตุที่ว่าทำไมเราถึงต้องถอดเอาเล็บออกก็เป็นเพราะว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ครับ โดยเมื่อมีข้อบ่งชี้ ได้แก่ มีการบาดเจ็บที่เล็บทำให้มีการปวดรุนแรง, เกิดอุบัติเหตุที่เล็บจนทำให้เล็บที่บาดเจ็บนั้นบดบังการขึ้นใหม่ของเล็บ
“การติดเชื้อที่เล็บ สามารถนำไปสู่การเกิดหนอง การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น หรือรวมถึงการมีเล็บขบเรื้อรัง”
ทำให้มีอาการเจ็บบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สะดวกสบายในการใส่รองเท้า หรือรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติได้ครับ
อ่านเพิ่มเติม : เล็บขบเกิดจากอะไร อาการและรักษาเล็บขบโดยแพทย์
ถอดเล็บเองได้ไหม?
หากใครที่สงสัยว่าสามารถถอดเล็บเองได้ไหม แพทย์จะไม่แนะนำให้ถอดเองนะครับ เนื่องจากเสี่ยงที่จะตัดเล็บผิดทรง จนเสี่ยงให้บริเวณเล็บขบ หรือเล็บที่มีปัญหาอยู่อาการแย่ลงกว่าเดิม หรือเล็บฉีกในบางกรณี หากถอดเองไม่ดีพอ จะทำให้เล็บไม่งอก, แผลติดเชื้อ เกิดหนอง อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ครับ
“จากเคสที่แพทย์เคยพบ แนะนำว่า หากตัวเล็บใกล้จะหลุดแล้ว แต่บริเวณที่ฉีกขาดหรือหลุดมีลักษณะขอบแผลไม่เรียบ แนะนำมาพบแพทย์เพื่อประเมินรอยโรค บางกรณีอาจต้อง ถอดทั้งเล็บ หรือ บางกรณีอาจตัดเล็บส่วนที่ใกล้หลุดออก แล้วทำแผลโดยสังเกตอาการเบื้องต้นได้ หากไม่มั่นใจ สามารถมาพบแพทย์เพื่อประเมินก่อนได้ครับ”
ขั้นตอนการถอดเล็บโดยแพทย์
-
นอนในท่าที่สะบาย นำขา หรือมือข้างที่ทำหัตถการวางไว้ที่ โซนทำหัตถการ
-
ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนิ้วที่ทำการถอดเล็บ ด้วย ยาฆ่าเชื้อแบบเฉพาะที่ ,แอลกอฮอล์ และน้ำเกลือ
-
ปูผ้าเจาะกลางสะอาดปลอดเชื้อ เพื่อแยกโซนสะอาด
-
ฉีดยาชาเข้าที่โคนนิ้วของเล็บที่จะทำหัตถการ โดยยาชาจะออกฤทธิ์เพื่อช่วยระงับความรู้สึกของทั้งนิ้ว ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ปวดในขณะทำหัตถการ
-
การถอดเล็บออก มีสองวิธีเบื้องต้น คือ
-
เอาออกบางส่วน สำหรับเคสเล็บขบ เพื่อลดการจิกของเล็บขบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง
-
การถอดเล็บออกทั้งหมด ในกรณีเคสที่เล็บฉีกรุนแรงจนไม่สามารถเก็บเล็บที่บาดเจ็บไว้ได้
-
-
เย็บซ่อมพื้นเล็บ (Nail Bed) ขั้นตอนนี้ จะขึ้นอยู่กับกรณีการบาดเจ็บของคนไข้
-
ทำความสะอาดแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดด้วยก๊อซ และปิดแผลด้วย Plaster กันน้ำ
การดูแลตัวเองหลังเอาเล็บออก
หลังจากที่นำเอาเล็บออกเรียบร้อยแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
-
ควรมาทำแผล ตามที่แพทย์นัด
-
เวลานอนควรยกเท้าข้างที่ทำการเอาเล็บออกให้สูงขณะนอน
-
ประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวม
-
ระวังอย่าให้แผลเปียก ชื้น หรืออับ
-
รับประทานยาตามที่แพทย์จ่าย
-
หลีกเลี่ยงการเดินเป็นระยะทางมากๆ ส่วนการเล่นกีฬาควรงดไปก่อน
-
หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่คับ หรือบีบที่บริเวณหน้าเท้า
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถอดเล็บ
ถอดเล็บแล้วเจ็บไหม?
-
ตอบ: จะมีอาการเจ็บแค่ตอนที่ฉีดเข็มยาชาเข้าไป หลังจากนั้น จะรู้สึกชาที่บริเวณนิ้วหรือเล็บที่ทำหัตถการ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ส่วนในระหว่างทำหัตถการเพื่อถอดเอาเล็บออก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บครับ
ถอดเล็บแล้ววิ่งได้ไหม?
-
ตอบ: หลังจากเอาเล็บที่บริเวณเท้าออกแล้วขอแนะนำว่า หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินเร็วหรือวิ่งอย่างน้อยประมาณ 2 อาทิตย์
ถอดเล็บแล้วเล่นกีฬาได้ไหม?
-
ตอบ: ในกรณีที่เอาเล็บออกบริเวณเท้า สามารถเล่นได้เฉพาะกีฬาที่ไม่ได้มีการวิ่งแล้วหยุดกระทันหัน เช่น บาส บอล เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น เนื่องจากขณะหยุดจะมีการจิกเท้า จะทำให้มีอาการปวดที่บริเวณของแผลถอดเอาเล็บออก รวมถึงอาจได้รับบาดเจ็บต่อตัวเล็บที่กำลังจะขึ้นใหม่ด้วย
ถอดเล็บกี่วันเล็บถึงจะขึ้น?
-
ในกรณีของนิ้วมือ: การขึ้นใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน
-
ในกรณีนิ้วเท้า: ระยะเวลาการงอกเล็บใหม่ จะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี โดยเฉลี่ย
ถอดเล็บต้องล้างแผลทุกวันไหม
-
ตอบ: การล้างแผลหลังถอดหากเป็นไปได้ควรล้างแผลทุกวันครับ การดูแผลทุกวัน โดยแพทย์หรือพยาบาล จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่โดยทั่วไป สามารถเริ่มเปิดแผลหลังผ่านไป 24-48 ชั่วโมง หลังจากรับการทำหัตถการ หลังจากนั้น สามารถนัดมาเพื่อมาดูแผล 1-2 วันครั้ง จนกว่าแผลจะแห้ง
ถอดเล็บ กี่วันถึงจะสามารถโดนน้ำได้?
-
ตอบ: สำหรับใครที่เพิ่งเอาเล็บออก คำแนะนำคือหลังเปิดแผล ควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำอย่างน้อย 2 วัน
ถอดเล็บใช้ยาชาไหม
-
ตอบ: การถอดเพื่อเอาเล็บออกจำเป็นต้องใช้ยาชาฉีดที่นิ้วที่ทำหัตถการ เพราะถ้าหากไม่มียาชา คนไข้จะมีอาการปวดช่วงดึงหรือเลาะ บริเวณเล็บที่ทำหัตถการได้ครับ
นพ.พันไมล์ เปรมัษเฐียร
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 17/04/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com