ฝี พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย เกิดขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกาย ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน แต่ส่วนมากเราจะพบฝีบนผิวหนังภายนอกได้มากกว่า ซึ่งฝีมักจะมีขนาดเล็กและสามารถรักษาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการกินยา , การผ่าฝี หรือ กรีดระบายหนอง
แต่สำหรับฝีที่เกิดกับอวัยวะภายในนั้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับฝี
ฝีเกิดจากอะไร
ฝีมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า เชื้อแบคทีเรีย สตาฟิโลคอคคัส ออเรียส และเชื้ออื่นๆ ทำให้ต่อมไขมันหรือหรือรูขุมขนบนผิวหนังอักเสบ บวมแดงขึ้นเมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บปวดและแสบร้อน อาจมีไข้สูงร่วมด้วย โดยฝีจะลักษณะเป็นก้อน มีลักษณะกลม ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามอาการอักเสบในบริเวณนั้นๆ ภายในเป็นหนอง
กลุ่มความเสี่ยงที่อาจตรวจพบฝีได้มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง, ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตรวจพบฝีได้มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ
ประเภทของฝีและตำแหน่งสามารถเกิดได้
ฝีบริเวณผิวหนัง
เป็นตุ่ม ก้อนบวมแดง ปวด กดเจ็บ มีผม หรือขนอยู่ตรงกลาง ขึ้นใหม่ๆ จะแข็ง ตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาค่อยๆ นุ่มลงและกลัดหนอง เมื่อฝีเป่งมากๆ อาจแตกเองได้ (หลังฝีขึ้นไม่กี่วันหรือ 1-2 สัปดาห์) ซึ่งอาการเจ็บปวดจะทุเลา
|
ฝีบริเวณอวัยวะภายใน
มักมีอาการเจ็บป่วยส่งผลทำให้เกิดฝี ฝีจะก่อตัวและเกิดขึ้นที่อวัยวะหรือพื้นที่ว่างระหว่างอวัยวะภายในร่างกาย ตำแหน่งที่เกิดฝีประเภทนี้ เช่น ฝีต่อมทอนซิลในช่องปากและผนังในลำคอ เกิดจากการติดเชื้อเป็นหนองที่เหงือกและฟัน ฝีในปอด ฝีในสมอง ฝีในตับ ซึ่งถือเป็นจุดที่อันตราย เป็นต้น
อาการของฝี
อาการของฝีนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของฝีและตำแหน่งที่เกิดฝี ซึ่งโดยอาการส่วนใหญ่ที่พบ แบ่งตามตำแหน่งได้ ดังต่อไปนี้
อาการของฝีที่ผิวหนัง
ฝีที่เกิดบริเวณผิวหนัง มีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดงและตึงหรือแข็งใต้ผิวหนัง จะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน มีอาการแสบร้อนผิวหนังรอบๆ ที่เกิดฝีบวมแดง และอาจมีจุดหนองสีขาวหรือเหลืองตรงกลาง มีกลิ่นเหม็น เมื่อฝีแตกแล้วหนองไหลออกใส ในบางคนอาจมีอาการหนาวสั่นและไข้สูงร่วมด้วย
อาการของฝีที่อวัยวะภายใน
ฝีจะเกิดที่บริเวณอวัยวะภายใน สังเกตอาการได้ยาก ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด โดยอาการป่วยที่อาจพบได้ เช่น ไม่สบายตัวบริเวณที่เกิดฝี มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น ไม่อยากอาหาร มีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องร่วง หรือ ท้องผูก เป็นต้น
วิธีรักษาฝีทำอย่างไรได้บ้าง
รักษาฝีด้วยตัวเอง
เบื้องต้นมีฝีขนาดเล็ก น้อยกว่า 1 เซนติเมตร และไม่เจ็บปวดรุนแรง ฝีจะสามารถหายได้เอง และสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นที่บ้านได้ โดยการใช้ผ้าประคบอุ่นบนบริเวณฝี ครั้งละ 30 นาที ทำ 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อช่วยลดอาการบวม ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ฝีระบายหนองออกเองตามธรรมชาติ
ไม่ควรบีบ กด หรือใช้เข็มเจาะฝีด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้
รักษาฝีโดยแพทย์
ในกรณีที่ฝีมีขนาดใหญ่เกินกว่า 1 เซ็นติเมตร มีอาการป่วยที่รุนแรง มีไข้สูง ขนาดฝีขยายโตขึ้น บวม เจ็บมากขึ้นเมื่อสัมผัสโดน ควรรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการรักษาตามขั้นตอนและลักษณะของฝี ดังนี้
ให้ยาปฏิชีวนะ
แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อจำกัดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับยาเม็ดรับประทาน และยาแบบฉีดในรายที่มีอาการป่วยรุนแรง เช่น มีไข้สูง และหากเมื่อฝีกลายเป็นหนองให้ผ่าออก
การผ่าตัดนำหนองในฝีออก
ในขั้นแรกแพทย์จะให้ยาชากับผู้ป่วยก่อนเพื่อระงับความรู้สึกบริเวณรอบฝี แล้วทำการกรีดหนองและเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก ต่อมาแพทย์จะยังเปิดแผลไว้ให้หนองระบายออกมา ซึ่งอาจจะต้องใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือสอดไว้เพื่อระบายหนองออกมาให้หมด
|
การเจาะนำหนองในฝีออก
การรักษาจะพิจารณาตามตำแหน่งฝีภายในที่พบ ซึ่งได้จากการตรวจหาตำแหน่งโดยการส่งตรวจ ทำอัลตราซาวนด์ หรือ การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเพื่อระบุตำแหน่งของฝีให้ชัดเจนและดูลักษณะอวัยวะรอบข้างว่ามีการอักเสบร่วมด้วยหรือไม่
ซึ่งการรักษาอาจจะใช้เข็มเจาะระบายหนองและใส่ท่อระบายหนองจนกว่าหนองจะหมดและในบางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่มีการอักเสบและติดเชื้อทิ้งด้วย เพื่อลดการแพร่กระแสเข้าสู่กระแสเลือดและลดอาการรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและตำแหน่งของฝี
ผ่าฝี กรีดหนอง เจ็บไหม
หลังจากที่ผ่าฝี กรีดหนองคนไข้อาจจะยังคงมีอาการเจ็บบริเวณที่ผ่าอยู่เล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้ปวดหรือยาลดบวมที่แพทย์จ่ายให้ได้
การผ่าฝีต้องฉีดยาชาไหม
การผ่าฝีจะมีการฉีดยาชา โดยแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อระงับความรู้สึกและลดความเจ็บปวดบริเวณรอบ ๆ ฝี ก่อนที่จะผ่าตัดกรีดระบายหนองออก
ระบายหนอง เป็นฝี ห้ามกินอะไร
-
ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ขณะทำการรักษา เพราะจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้าได้
-
ควรเลี่ยงอาหารประเภทหมักดองและสุกๆดิบๆ ได้แก่ ปลาร้า กะปิ ผลไม้ดองต่างๆ หน่อไม้ดอง เป็นต้น เพราะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อของโรคอย่างอื่นได้
กรีดระบายหนอง กรีดฝี กี่วันถึงหาย
หลังผ่าฝี แผลมักหายสนิทภายใน 2 – 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของฝีและการดูแลทำความสะอาดแผลด้วย
การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อเป็นฝี
-
ถ้าหากฝีมีขนาดเล็ก น้อยกว่า 1 เซนติเมตร ไม่เจ็บปวดรุนแรง สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นที่บ้านได้ สามารถหายเองได้ แต่หากถ้าอาการไม่ดีขึ้น การรักษาจะเปลี่ยนมาเป็นการผ่าตัดกรีดระบายหนองออก
-
หลังจากผ่าตัดนั้น ต้องทำความสะอาดแผลทุกวัน ไม่ให้แผลเปียกน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
-
รับประทานยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาที่แพทย์แนะนำ
ฝีเมื่อเป็นแล้วมักนำความเจ็บปวดมาให้ บางคนสามารถที่จะหายเองได้หากฝีมีขนาดเล็กแต่ในบางคนที่มีอาการรุนแรงจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม
|
พญ.สุพิชชา บึงจันทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 26/03/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com