บางรายอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุด
เราไปดูกันว่าจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างและควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นตากุ้งยิง
บางรายอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุด
เราไปดูกันว่าจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างและควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นตากุ้งยิง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคตากุ้งยิงที่คุณควรรู้
โรคตากุ้งยิงเกิดจากอะไร
ตากุ้งยิง เป็นการติดเชื้อของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยคือ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่มักพบตามผิวหนัง
มักพบในผู้ป่วยที่มีเคยประวัติต่อมไขมันเปลือกตาอุดตันหรือเปลือกตาอักเสบ หรือในรายที่ชอบขยี้ตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือมีการแต่งหน้าบริเวณเปลือกตาบ่อย ล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นตากุ้งยิงมากขึ้น
ตากุ้งยิง มีกี่ชนิด
มีสองชนิด คือ ชนิดด้านใน (Internal hordeolum) และ ชนิดด้านนอก (External hordeolum) ซึ่งต่างกันตรงบริเวณตำแหน่งของต่อมที่ติดเชื้อ
อาการเริ่มต้นของตากุ้งยิง
ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บบริเวณเปลือกตา ร่วมกับเปลือกตาบวมแดง หากเป็นชนิดด้านนอกก็จะสามารถเห็นตุ่มหนองชัดเจนที่เปลือกตาได้ อาจมีอาการเคืองตาด้วยร่วม ในบางรายตุ่มหนองอาจจะแตกได้เอง ทำให้มีขี้ตาปนหนองออกมาได้
และตากุ้งยิงเป็นโรคของเปลือกตา จึงไม่มีผลต่อการมองเห็น หากมีการมองเห็นลดลงจำเป็นต้องพบจักษุแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจเป็นโรคอื่นที่รุนแรง
ตากุ้งยิงเป็นกี่วันถึงจะหาย
ตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย
เป็นตากุ้งยิงแล้วหายเองได้ไหม
เป็นตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนและเป็นไม่รุนแรง โดยแนะนำให้ผู้ป่วยประคบอุ่นบริเวณเปลือกตาและนวดเปลือกตาเบาๆเพื่อให้ก้อนหนองและการติดเชื้อระบายได้ดีขึ้น ร่วมกับเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด
หลังจากหาย อาจเกิดป็นตุ่มบริเวณเปลือกตาได้ (Chalazion) ซึ่งสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาเป็นเดือน
ต้องกินยาอะไรเมื่อเป็นตากุ้งยิง
เมื่อคุณเป็นตากุ้งยิง สามารถทานยาแก้ปวด Paracetamol และแก้อักเสบได้หากมีอาการปวดที่เปลือกตาเยอะ ในบางรายที่มาพบแพทย์อาจมีการจ่ายยาฆ่าเชื้อชนิดกินหรือทา ขึ้นกับความรุนแรงและดุลยพินิจแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเราขอแนะนำให้มาพบแพทย์นะคะ
เมื่อเป็นตากุ้งยิงห้ามกินอะไร
ตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคภายนอก ไม่จำเป็นต้องห้ามกินอะไร แต่เน้นไปที่การประคบอุ่นและการทำความสะอาดเปลือกตา งดขยี้ตา และใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและสิ่งสกปรก
โรคตากุ้งยิงรักษาอย่างไร
-
การรักษาโรคตากุ้งยิงในเคสที่ไม่รุนแรง แนะนำให้ประคบอุ่น อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที ร่วมกับทำความสะอาดเปลือกตาด้วยการเช็ดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด และนวดเปลือกตาเบาๆเพื่อเพิ่มการระบายหนอง สามารถทานยา Paracetamol เพื่อลดอาการปวดบวมได้ งดขยี้ตา และใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและสิ่งสกปรก
-
หากผู้ป่วยไม่มั่นใจ แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากในเคสที่มีการติดเชื้อเยอะหรือมีการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียงร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับ ทายาฆ่าเชื้อ จึงจะสามารถหายได้ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเอง เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงและมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
-
ในเคสที่รักษาด้วยการประคบอุ่นและการใช้ยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาจักษุแพทย์ เนื่องจากอาจต้องรักษาด้วยการเจาะกรีดระบายหนอง (Incision & drainage) หรือส่งชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
คำแนะนำก่อนเจาะหนอง
-
งดใช้กลุ่มยา warfarin หรือ aspirin (ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด) ก่อนทำการเจาะเอาหนองออก และควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของอายุรแพทย์
-
วันที่เจาะตากุ้งยิง แนะนำให้คนไข้ล้างหน้า สระผมให้สะอาดไม่ใช้ครีมหรือน้ำมันบนศีรษะ และงดใช้เครื่องสำอางแต่งหน้า
-
หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่น ควันและมลภาวะ เมื่อออกไปในสถานที่ที่ฝุ่นเยอะแนะนำให้ใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและแสง
การปฏิบัติตัวหลังเจาะหนอง
-
หลังเจาะหนองออกแล้ว แพทย์จะใช้ผ้าปิดตาไว้เพื่อเป็นป้องกันฝุ่นละอองเข้าตาและเป็นการรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตาด้วย
-
เปิดผ้าปิดตาออกได้หลังภายใน 12-24 ชั่วโมง และใช้ยาตามแพทย์สั่งได้เลย หากมีอาการปวด สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่ม Paracetamol ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 เม็ด หรือตามคำแนะนำของแพทย์
-
งดห้ามขยี้ตาเด็ดขาด
-
ในวันถัดมาเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาอย่างระมัดระวัง ด้วยผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำอุ่นบิดหมาด
-
งดการใส่คอนแทคเลนส์ในระยะรักษาตากุ้งยิง
-
ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งจ่ายยาปฎิชีวนะ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมด หากมียาหยอดหรือยาป้ายให้ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 7 วัน
-
ล้างมือให้สะอาดก่อนการสัมผัสบริเวณรอบดวงตาทุกครั้ง
-
หากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที เช่น ปวดตามาก เปลือกตาหรือบริเวณที่เจาะหนองบวมช้ำมาก มีอาการตาแดง
ตากุ้งยิงเมื่อเป็นแล้วแม้ว่าจะสามารถหายเองได้ แต่ก็ต้องอาศัยระยะเวลาและการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งขัด เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นตามมา แต่หากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาการยังไม่รุนแรงมาก ย่อมดีกว่าการปล่อยให้เชื้อลุกลาม
รักษาตากุ้งยิง เจาะตากุ้งยิง ราคาเริ่มต้น 3,360 บาท
เอกสารอ้างอิง
-
คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางจักษุวิทยา โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาจักษุวิทยา
-
American Academy of Ophthalmology. Infectious diseases of the external eye: clinical aspects. External Disease and Cornea. San Francisco, CA: LEO; 2006-2007. 8:
-
Hordeolum , https://emedicine.medscape.com/article/1213080-overview
พญ.ณัฐวดี ศรีบริสุทธิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 03/09/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com