การเย็บแผล มีกี่แบบ? บาดแผลแบบไหนที่ต้องเย็บ

การเย็บแผลถือเป็นการรักษาบาดแผลวิธีหนึ่งที่เราหลายคนคุ้นชินเป็นอย่างดี เนื่องจากในชีวิตประจำวันอาจมีอุบัติเหตุบางอย่างทำให้เราได้รับบาดเจ็บจนเกิดเป็นแผลขนาดเล็กไปจนถึงแผลขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ นั่นก็คือต้องเย็บแผล ซึ่งการเย็บแผลต้องใช้ทักษะและความละเอียด การพิจารณาบาดแผลที่จะเย็บ รวมไปถึงเทคนิคและขั้นตอนในการเย็บแผลด้วย และที่สำคัญการดูแลตัวเองหลังจากเย็บแผลแล้วคือสิ่งที่แพทย์จะต้องให้คำแนะนำคนไข้อย่างถูกต้อง เรามาดูกันว่าสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเย็บแผลมีอะไรบ้าง

ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเย็บแผลที่คุณควรรู้

  1. เย็บแผลคืออะไร
  2. บาดแผลแบบไหนที่สามารถเย็บแผลได้
  3. บาดแผลที่ไม่ควรเย็บแผลมีอะไรบ้าง
  4. การประเมินบาดแผลและการตรวจบาดแผลก่อนทำการเย็บแผล
  5. วัสดุที่ใช้สำหรับการเย็บแผล
  6. อุปกรณ์ที่ใช้เย็บแผลมีอะไรบ้าง
  7. หลักการเย็บแผล
  8. ภาวะแทรกซ้อนจากการเย็บแผลมีอะไรบ้าง
  9. ลวดเย็บแผลดีอย่างไร
  10. ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังเย็บแผล ให้แผลหายไว
  11. ค่าใช้จ่ายในการเย็บแผล 

เย็บแผลคืออะไร

เย็บแผลคืออะไร

เย็บแผล คือการทำหัตถการที่อยู่ในขอบเขต ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง สามารถปฏิบัติได้ โดยก่อนปฏิบัติหัตถการใด ๆ ควรมีการประเมินเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านต้องพบผู้ป่วยที่มีบาดแผลมา และจะต้องลงความเห็นว่า ควรเย็บหรือไม่ควรเย็บ”

” โดยวัตถุประสงค์ของการเย็บแผลก็คือ เพื่อห้ามเลือด เพื่อตึงขอบแผลเข้าหากัน ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล รวมทั้งเป็นการรักษาสภาพปกติของผิวหนังหรือลดรอยแผลเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ “

บาดแผลแบบไหนที่สามารถเย็บแผลได้

เมื่อคนไข้ที่มารับการรักษา เกิดบาดแผลขึ้น แพทย์สามารถพิจารณาและ ตัดสินใจได้ เลยว่า หากบาดแผลนั้นปากห่างและไม่สามารถปิดเองได้สนิทหรือมีความยาวมากกว่า 1 นิ้ว ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการเย็บแผล ซึ่งการเย็บบาดแผลนั้นเป็นการทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น และลดการติดเชื้อ ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่เด่นชัด  การเย็บแผลควรเย็บภายใน 1-2 ชั่วโมง ของการเกิดบาดแผล  อาการดังต่อไปนี้ควรได้รับการเย็บแผล

  1. บาดแผลที่มีเลือดออกมาก และไม่สามารถห้ามเลือดได้

  2. บาดแผลที่ลึกจนสามารถมองเห็นกล้ามเนื้อหรือกระดูก

  3. บาดแผลที่ปากแผลเปิดกว้าง

  4. บาดแผลที่เกี่ยวกับข้อต่อต่างๆ บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า

  5. บาดแผลที่ลึกจากการถูกของมีคมทิ่มตำ

  6. บาดแผลที่เกิดจากวัตถุถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนัง

  7. บาดแผลที่เกิดจากการถูกคนหรือสัตว์กัด

  8. บาดแผลที่ไม่ต้องการให้เกิดรอยแผลเป็นเด่นชัดนัก เช่น บริเวณใบหน้า

บาดแผลที่ไม่ควรเย็บแผล

บาดแผลที่ไม่ควรเย็บแผลมีอะไรบ้าง

หากเกิดบาดแผลจากสุนัขกัด แผลติดเชื้อ จากการโดนของมีคมบาด เกิดแผลฉีกขาด สกปรก มีสิ่งแปลกปลอม หรือเนื้อตาย ตกน้ำคร่ำเป็นแผลสกปรก แพทย์จะไม่ทำการเย็บแผล เนื่องจากเป็นแผลสกปรก มีโอกาสติดเชื้อจะสูงมาก ถ้าเย็บแผลหรือปิดแผลที่ติดเชื้อทันทีเป็นเหตุให้แผลหายช้าได้ หรืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและบางรายเสียชีวิต กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจต้องทำแผลไปก่อน และป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันบาดทะยักและพิษสุนัขบ้า

หมายเหตุ : อาจต้องพิจารณาเย็บในกรณีบาดแผลที่อวัยวะสำคัญ

ตรวจบาดแผลก่อนทำการเย็บแผล

การประเมินบาดแผลและการตรวจบาดแผลก่อนทำการเย็บแผล

  1. การสูญเสียเลือด ต้องดูว่ามีเลือดออกภายนอกให้เห็น หรือว่ามีเลือดออกภายใน ซึ่งต้องประเมินโดยใช้ สัญญาณชีพเป็นหลัก และอื่น ๆ ประกอบ

  2. สังเกตจากขนาดและลักษณะของบาดแผล ต้องดูว่ามีการฟกช้ำ ห้อเลือด ถลอก หรือแผลฉีกขาดหรือไม่ ดูเนื้อเยื่อในแผล

  3. ผิวหนังรอบแผล สิ่งแปลกปลอม สารคัดหลั่ง อาจพิจารณาฉีดยาชาเฉพาะที่ ขณะตรวจประเมินเพื่อลดความเจ็บปวดให้กับคนไข้

  4. พิจารณาบาดแผลจากขนาดกว้างยาวลึก และดูว่ามีการฉีกขาดถึงเส้นเอ็นหรือไม่

วัสดุใช้สำหรับการเย็บแผล (Suture Material)

ปัจจุบันวัสดุที่ใช้สำหรับการเย็บแผล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

ไหมเย็บแผล ไหมละลาย

1. วัสดุที่สามารถละลายได้เอง (Absorbable Sutures) หรือเรียกอีกชื่อว่าไหมละลาย เป็นวัสดุเย็บแผลที่ร่างกายสามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดไหมภายหลังการรักษา โดยไหมละลายมีทั้งชนิดที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ ได้แก่ Catgut ที่ทำมาจากลำไส้ของแกะหรือวัว

  • Plain catgut จะเริ่มละลายเมื่อผ่านไป 4-10 วัน

  • Chomic catgut จะเริ่มละลายเมื่อผ่านไป 10-20 วัน

และไหมละลายชนิดที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ที่แพทย์สมัยใหม่นิยมเลือกใช้มากกว่า ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เนื้อไหมจะมีขอบเรียบ มีความแข็งแรงและทนทานมากกว่า เสี่ยงต่อการเกิดอาการอักเสบหรือการติดเชื้อได้น้อย ตัวอย่างไหมละลายชนิดเส้นใยสังเคราะห์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • Monocryl (Poliglecaprone 25) มีความแข็งแรงอยู่ได้นาน 21 วัน

  • Vicry/ (polyglactin 910) มีความแข็งแรงอยู่ได้นานถึง 3-4 สัปดาห์

  • PDS (Polydiaxanone) มีความแข็งแรงอยู่ได้นาน 5-6 สัปดาห์

ไหมเย็บแผลชนิดไม่ละลาย

2. วัสดุที่ไม่สามารถละลายได้เอง (Non-Absorbable Sutures) เป็นวัสดุเย็บแผลที่ไม่สามารถสลายตัวได้เอง มักใช้กับบาดแผลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความเสียหายอย่างรุนแรง และจำเป็นต้องใช้แรงดึงรั้งบาดแผลมากการใช้ไหมชนิดนี้ในการรักษา เมื่อครบกำหนดหรือเมื่อบาดแผลสมานตัวดีแล้ว จะต้องให้แพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญตัดไหมออก โดยวัสดุเย็บแผลชนิดไม่ละลายที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่

  • ไหม (silk) เป็นไหมเย็บแผลที่มีราคาถูก ผูกปมได้ง่ายและอยู่ตัวมีอายุได้นานถึง 1 ปี

  • ไนลอน (NyIon) เป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงมากกว่าไหม แต่ผูกปมได้ค่อนข้างยากและไม่ค่อยอยู่ตัว

  • ฝ้าย (Cotton)

  • โพลีเฮสเตอร์ (polyester)

  • โพลีพรอพิลีน (polypropylene)

นอกไปจากนี้ยังมีวัสดุสำหรับเย็บแผลชนิดสำเร็จรูป ที่แพทย์นิยมใช้ร่วมกับการรักษาบาดแผล ได้แก่ โลหะหรือลวดสำหรับเย็บแผล (Staples) และเทปสำหรับปิดแผล (Tape) ที่ช่วยให้การเย็บปิดบาดแผลทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อุปกรณ์ที่ใช้เย็บแผลมีอะไรบ้าง

Tooth Forceps

1. Tooth Forceps ใช้สำหรับหยิบจับภายนอก เช่น ผิวหนัง หรือถ้าหากต้องการหยิบจับภายใน อาจเป็นประเภทของการหยิบจับบริเวณที่เป็นพังผืด

Non Tooth Forceps

2. Non Tooth Forceps ปากคีบสแตนเลสแบบไม่มีเขี้ยว ใช้หยิบจับภายใน หรืออวัยวะที่บอบบาง

Needle Holder

3. Needle Holder ใช้สำหรับการจับเข็มให้มั่นคง  เพื่อคุมน้ำหนัก และทิศทางในการเย็บแผล

กรรไกรตัดไหม

4. กรรไกรตัดไหม (Suture scissors)  ข้อสังเกตของกรรไกรตัดไหมคือ ส่วนใหญ่ด้านหนึ่งจะมน แต่อีกด้านหนึ่งจะมีปลายแหลม

ชนิดของเข็มเย็บแผล

5. เข็มเย็บแผล มีเข็มเย็บแผลแบบเหลี่ยม และเข็มเย็บแผลแบบกลม

แม็กซ์เย็บแผล ลวดเย็บแผล

6. ลวดเย็บแผล (ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ตามความเหมาะสม)

เครื่องมือเย็บแผลปราศจากเชื้อ

หลักการเย็บแผล

1. ให้ยึดหลักปราศจากเชื้อ (Sterile Technique) โดยเฉพาะการใส่ถุงมือ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก่อนการเจาะเลือด การทำแผล เย็บแผล เพื่อให้อุปกรณ์ที่ปราศจากเชื้อคงความปราศจากเชื้อโรคทุกชนิด

รวมทั้งสปอร์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยจากการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ สัมผัสหรือ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย

หากอุปกรณ์หรือบริเวณใดที่ปราศจากเชื้อ (sterile) สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ปราศจากเชื้อ เรียกว่า มีการปนเปื้อนเชื้อโรค (contamination)

เข็มเย็บแผล

2. ควรเลือกใช้เข็มเย็บแผลตามความถนัดและความเหมาะสม

  1. เข็ม Cutting คือเข็มเย็บแผลที่มีคมอยู่ด้านข้าง จะใช้เย็บเนื้อที่มีความเหนียว เช่น พังผืด ผิวหนัง และเส้นเอ็นต่างๆ เป็นต้น

  2. เข็ม Taper หรือเข็มกลม (Round)  ใช้สำหรับเย็บแผลบริเวณเนื้อที่อ่อนและไม่ต้องการทำให้ขอบเข็มบาดเนื้อ เช่น เข็มที่ใช้เย็บลำไส้ กล้ามเนื้อ ต่อมต่างๆ และหลอดเลือด ปลอกประสาท เป็นต้น

  3. เข็มโค้งมาก ใช้สำหรับเย็บแผลแคบๆ

  4. เข็มโค้งน้อย ใช้สำหรับเย็บแผลที่มีเนื้อที่เย็บกว้าง

  5. ขนาดความใหญ่หรือยาวของเข็มเย็บแผล เลือกใช้ตามแต่ว่าต้องการตักเนื้อเข้ามาหากันมากหรือน้อย

การจับคีมจับเข็มเย็บแผล

การจับคัมจับเข็มเย็บแผล (A) คีมยาว (B) คีมสั้น

3. การจับคีมจับเข็มเย็บแผล (needle holder) จับให้ด้ามคีมอยู่ในอุ้งมือ นิ้วชี้วางใกล้กลับข้อต่อ เพื่อจะได้ตักได้มั่นคงและแม่นยำ แต่หากเป็นคีมจับเข็มเย็บแผลชนิดสั้นต้องจับอีกแบบ

การปักเข็มเย็บแผล

การปักเข็มเย็บแผลที่ถูกต้อง

 

4. เวลาตักควรปักเข็มเย็บแผลลงไปตรงๆ (ตามภาพ C) ให้ตั้งฉากกับผิวหนัง หรือบริเวณเนื้อที่จะเย็บ จะทำได้ง่าย ไม่ควรตักเฉียง (ตามภาพ D) เพราะผิวหนังที่จะถูกเย็บจะมีความยาวมากจะทำให้เย็บยากขึ้น และการปักเข็มเย็บแผลควรปักให้ห่างจากขอบแผลออกมาพอสมควร

หมุนเข็มเย็บแผล

5. หมุนเข็มเย็บแผลให้ปลายเข็มเสยขึ้น (ตามภาพ E และ F) โดยให้ใช้ข้อมือ อย่าดันไปตรงๆ เพราะเข็มโค้งอาจจะหัก ให้ปล่อยคีมจากโคนเข็มมาจับปลายที่โผล่พ้นผิวหนังอีกด้านหนึ่งของแผลขึ้นมา ให้ปลายแหลม (ถ้าจับตรงปลายแหลมจะทำให้งอหรือทื่อ) แล้วค่อยๆหมุนเข็มตามความโค้งของเข็ม จนกระทั้งโคนเข็มหลุดจากผิวหนัง

การผูกด้ายเย็บแผล

6. ใช้มือซ้ายจับโคนเชือกไว้ มือขวาถือคีมจับเข็มเย็บแผลรูดออกไปจนเข็มหลุดจากเชือก วางคีมแล้วมาจับปลายเชือกอีกด้านหนึ่ง จัดความยาวของเชือกเย็บแผลสองด้านให้เท่ากัน พร้อมกับดึงขอบแผลให้มาติดกันแล้วผูกเชือกให้เป็นเงื่อนตาย (ตามภาพ G)

7.ใช้กรรไกรตัดไหมตัดด้าย โดยจะต้องเหลือโคนไว้ ยาวประมาณครึ่งเชนติเมตร จำนวนเข็มที่เย็บจะขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของแผล แผลโดยทั่วไปจะเย็บแต่ละเปลาะห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร แต่หากเห็นว่าฝีเย็บห่างเกินไปอาจเย็บเสริมตรงระหว่างกลางได้ ส่วนกรณีที่แผลใหญ่อาจเย็บเสริมตรงกลางได้ และในกรณีที่แผลใหญ่มากอาจตักเข็มเย็บแผล 2 ครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนจากการเย็บแผลมีอะไรบ้าง

หลังจากการเย็บแผลแล้ว อาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้เล็กน้อย เช่น มีไข้  รู้สึกปวดแผลมากกว่าปกติ มีอาการบวมแดง หรือ แสบร้อน  บริเวณแผลที่เย็บหากมีการขยับบริเวณดังกล่าวมาก ก็อาจจะทำให้มีเลือดซึมออกมาได้ หากมีอาการผิดปกติที่มากกว่าที่กล่าวข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วป้องกันการเกิดอาการที่ร้ายแรงกว่าเดิม เพราะบางรายปล่อยไว้อาจเกิดการติดเชื้อตามมาได้

ลวดเย็บแผล

ลวดเย็บแผลดีอย่างไร

กรณีไม่ใช้ไหมเย็บแผล ในคนไข้บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ลวดเย็บแทนการใช้ไหม ตามความเหมาะสม และคุณสมบัติเฉพาะของลวดเย็บแผลตามลักษณะของแผลแบบต่างๆ ซึ่งจะมีข้อดีดังต่อไปนี้

  1. ลวดเย็บแผลสามารถ ใช้เย็บทั้งแผลผ่าตัดภายในและผิวหนัง โดยส่วนใหญ่จะใช้ลวดเย็บแผลในแผลผ่าคลอด

  2. การใช้ลวดเย็บแผลช่วยลดระยะเวลาในการเย็บได้ดีกว่าการเย็บแผลแบบการใช้ไหมเย็บ

  3. ลวดเย็บแผลจะช่วยลดความเจ็บปวดบริเวณแผล ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผล รวมไปถึงความสวยงามของรอยเย็บ

  4. ลวดเย็บผิวหนังจะมีความแข็งแรงสามารถยึดติดและแนบกับผิวหนังผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

  5. ลวดเย็บแต่ละชิ้นบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีด้ามจับ ด้ามจับมีความบางและน้ำหนักเบา ขนาดพอเหมาะในการจับ เพื่อทำการเย็บแผลและสามารถมองเห็นแผลได้ชัดจน ถือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเย็บแผลที่สะดวกต่อการใช้งานสะดวก

  6. ปลายลวดเย็บแผลแต่ละชิ้นมีความคม  ข้อดีคือจะช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อขณะที่เย็บแผลได้ดี

*ราคาของลวดเย็บแผลจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้ไหมเย็บแผล การเลือกวิธีการเย็บแผลอาจขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และความยินยอมของผู้ป่วยด้วย

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังเย็บแผล ให้แผลหายไว

หลังจากแพทย์หรือพยาบาลทำการรักษาหรือทำหัตถการเย็บแผลแล้ว  คนไข้เองก็ควรดูแลบาดแผลอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้บาดแผลสมานตัวได้ดี ช่วยลดโอกาสแผลติดเชื้อ และภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

1. ระวังไม่ให้แผลสัมผัสโดนน้ำ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเย็บแผล เพื่อให้เนื้อเยื่อเริ่มสมานตัว และป้องกันแผลติดเชื้อ เมื่อครบ 24 ชั่วโมงไปแล้วสามารถเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือได้ แต่จะต้องซับแผลให้แห้งดีทุกครั้ง


2. ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หรือมีความชื้นจนกว่าแผลจะสมานตัว ไม่อาบน้ำหรือราดน้ำลงบนแผลโดยตรง งดการทำกิจกรรมที่ทำให้แผลเปียกชื้นจนกว่าแผลจะหายดี เช่น การว่ายน้ำ การดำน้ำ รวมไปจนถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น การออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการอยู่กลางแดด กลางแจ้งเป็นเวลานาน


3. รักษาความสะอาดของบาดแผลอยู่เสมอ หมั่นเช็ดล้างและทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้แผลสกปรก ซึ่งอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ เช่น การเล่นกีฬา การทำงานบ้านที่ต้องปัด กวาด เช็ดถู หรือการเล่นในสนามเด็กเล่น เล่นดินหรือโคลน ในกรณีที่เป็นแผลเย็บในเด็กเล็ก ฯลฯ 

4. กรณีที่มีแผลเย็บอยู่บริเวณ เท้า ขา แขน หรือมือ ให้พยายามยกให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่นอนพัก เพื่อช่วยลดอาการบวม ซึ่งอาจทำให้แผลเย็บปริขาดออกจากกันได้

5. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ ๆ จนกว่าแผลจะเริ่มหายดี เช่น การออกกำลังกายหนัก ๆ การเล่นกีฬาบางชนิดที่มีโอกาสของการถูกชน หรือกระแทก เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เพราะอาจทำให้รอยเย็บเปิด ทำให้แผลสมานตัวได้ช้า

6. ในกรณีที่ใช้ผ้าปิดแผลเพื่อกันน้ำ ควรรักษาความสะอาด และหลีกเลี่ยงไม่ให้บริเวณผ้าปิดแผลเกิดความชื้น โดยเฉพาะตอนอาบน้ำ ไม่ควรราดน้ำลงบนแผลโดยตรง หลีกเลี่ยงการถูหรือฟอกบริเวณผ้าปิดแผล เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าปิดแผลหลุด

7. หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา บริเวณรอยเย็บ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลฉีกขาด และลดโอกาสที่เชื้อโรคจากนิ้วมือ ซอกเล็บเข้าสู่แผล

8. ทานยาที่แพทย์จ่ายมาให้จนหมดโดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ หรือหากมีอาการเจ็บที่บริเวณแผล สามารถทานยาพาราเซตามอน (Paracetamol) หรือไอบรูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บลงได้ และควรเข้าพบแพทย์ตามกำหนดนัดทุกครั้ง

9. หมั่นสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าแผลอาจมีการติดเชื้อ และควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเมื่อตรวจพบอาการเหล่านี้

  • รู้สึกเจ็บที่บริเวณบาดแผลมากกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการไข้ หลังจากทานยาตามแพทย์จ่ายแล้วก็ไม่รู้สึกดีขึ้น

  • มีอาการบวมแดง แสบร้อนที่บริเวณบาดแผล

  • มีสารคัดหลั่ง หนอง หรือมีเลือดไหลออกมาจากแผลเย็บ และแผลเริ่มมีกลิ่นเหม็น

10. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้แผลติดเชื้อ และทำให้แผลหายช้า เช่น ของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ตลอดไปจนถึงอาหารที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหารทะเล นมสด พืชตระกูลถั่ว ฯลฯ

11. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และช่วยสมานบาดแผลให้หายไวขึ้น ได้แก่

  • อาหารกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่

  • ผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยให้บาดแผลหายได้ไวขึ้น (วิตามินซี ธาตุเหล็ก และสังกะสี) เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็ง

  • เติมพลังงานให้ร่างกายอย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายดึงเอาโปรตีนในกล้ามเนื้อมาใช้ในช่วงการฟื้นตัว ด้วยการกินอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช มันเทศ มันหวาน รวมถึงอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว อะโวคาโด เป็นต้น

12. งดการสูบบุหรี่จนกว่าแผลจะเริ่มสมานตัว เพราะในบุหรี่มีสารพิษรวมกว่า 4,000 ชนิด สารพิษเหล่านี้จะเข้าไปขัดขวางการฟื้นฟูสภาพบาดแผล ทำลายเนื้อเยื่อ ส่งผลให้แผลหายช้า และยังเสี่ยงทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ค่าใช้จ่ายในการเย็บแผล

ค่าใช้จ่ายในการเย็บแผล

อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรมให้บริการเย็บแผล ราคาเริ่มต้น 1,815 บาท

หมายเหตุ

1. ราคานี้ยังไม่ร่วมค่ายา 

2. การเย็บแผลขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  • เกษียร ภังคานนท์ คู่มือผ่าตัดเล็ก.พิมพ์ครั้งที่ 17 , กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2553.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

 Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

    

 @qns9056c

 อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

แก้ไขล่าสุด : 08/02/2024 

อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com