การล้างแผล ทำแผล เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมากเมื่อเราเกิดบาดแผลขึ้น แผลจะหายดีหรือมีอาการแทรกซ้อน แผลติดเชื้อ ก็เกิดจากขั้นตอนนี้ ดังนั้นจึงถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ต้นจนถึงตอนบาดแผลหายดี ขั้นตอนการล้างแผล ทำแผล ทำไมเราต้องไปล้างแผลทุกวันตามแพทย์นัด และวิธีการดูแลแผลหลังทำแผลต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำแผล ล้างแผล
-
ล้างแผลคืออะไร
-
ขั้นตอนในการทำแผล ล้างแผลทั่วไป
-
ขั้นตอนในการทำแผล ล้างแผลเป็นฝี/หนอง
-
ทำไมถึงต้องทำแผล ล้างแผลทุกวัน
-
หากลืมล้างแผลต้องทำอย่างไร
-
หัตถการแบบไหนบ้างที่ต้องล้างแผล (เพราะอะไร)
-
การดูแลแผลหลังทำแผลที่บ้านต้องทำอย่างไร
-
ค่าใช้จ่ายทำแผล ล้างแผล
ล้างแผลคืออะไร
ล้างแผล คือ การทำความสะอาดขจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล ตกแต่ง และค้ำจุนแผล โดยการล้างแผลมีวัตถุประสงค์คือ ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลทางผิวหนัง ป้องกันไม่ให้แผลได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น โดยแบ่งการล้างแผลออกเป็น 2 วิธี
การล้างแผลชนิดแห้ง (Dry dressing) คือ การล้างแผลที่ไม่ต้องใช้ความชุ่มชื้น ช่วยในการหายของแผล ใช้ในการล้างแผลที่สะอาด ปากแผลปิด เช่น แผลผ่าตัดซึ่งเป็นแผลที่สะอาด และเย็บไว้ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แผลไม่มีลักษณะของการอักเสบและไม่มีสารคัดหลั่งออกมาจากแผล
การล้างแผลชนิดเปียก (Wet dressing) คือ การล้างแผลที่ต้องใช้ความชุ่มชื้น ช่วยในการหายของแผล ใช้ในการล้างแผลเปิด การล้างแผลชนิดนี้จะใช้เมื่อแผลมีการสูญเสียเนื้อเยื่อ หรือ มีการหายแบบทุติยภูมิ เพื่อช่วยในการขจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เช่น แผลกดทับ แผลมีหนอง แผลผ่าตัดที่มีการติดเชื้อแล้วขอบแผลแยก เป็นต้น เหมาะสำหรับแผลที่มีสารคัดหลั่งและมีการอักเสบที่บริเวณแผล
ขั้นตอนในการทำแผล ล้างแผลทั่วไป
โดยการปฏิบัติทุกขั้นตอนต้องใช้เทคนิคปราศจากเชื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่บาดแผลผู้ป่วย และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากบาดแผลออกสู่ภายนอก
-
เตรียมอุปกรณ์ และจัดท่าผู้ป่วยให้สะดวกในการทำแผล ล้างแผล
-
เปิดแผลผู้ป่วย หากเป็นพลาสติกปิดแผล ต้องลอกไปตามแนวเดียวกับแนวขน ไม่ลอกย้อนแนวขน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บ ใช้นิ้วกดผิวหนังบริเวณรอบไว้เพื่อช่วยลดการดึงรั้งของผิวหนัง หากเป็นผ้าปิดแผลควรลอกอย่างช้า ๆ และและระมัดระวัง ถ้าแผลแห้งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บและอาจจะมีเนื้อแผลลอกติดมาด้วย การใช้น้ำเกลือล้างแผลชโลมไว้ให้ทั่วผ้าปิดแผล แล้วค่อยลอกออกสามารถช่วยได้
-
เปิดชุดล้างแผล และเทน้ำยาที่ใช้ในการล้างแผล เช่น น้ำเกลือ 0.9% แอลกอฮอล์ 70% หรือโปวิโดน-ไอโอดีน 10%
-
การล้างแผลชนิดแห้ง ใช้ปากคีบไม่มีเขี้ยวคีบก้อนสำลีชุบน้ำยาที่ใช้ในการล้างแผล ประมาณ 2/3 ของก้อนหรือพอหมาด ส่งให้ปากคีบ มีเขี้ยว นำไปเช็ดชิดขอบแผลและวนออกจากขอบแผล ประมาณ 2-3 นิ้ว จนสะอาด
-
การล้างแผลชนิดเปียก ทำความสะอาดขอบแผลเช่นเดียวกับการล้างแผลชนิดแห้ง และใช้สำลีชุบน้ำยาที่ใช้ในการล้างแผลเช็ดภายในแผลจนสะอาด จากนั้นใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำยาใส่ในแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูดซับสิ่งคัดหลั่ง และให้ความชุ่มชื้นแก่เนื้อเยื่อ
-
ปิดแผลด้วยผ้าก็อซและติดพลาสเตอร์ตามแนวขวางของลำตัว
ขั้นตอนในการทำแผล ล้างแผลเป็นฝี/หนอง
จะมีการชะล้างแผล (wound irrigation) โดยการชะล้างแผลจะทำกับแผลเปิดที่มีความลึก มีหนองไหลออกจากแผล และมีเศษเนื้อตายติดอยู่กับแผล วิธีการทำเช่นเดียวกับการล้างแผลชนิดเปียก และใช้กระบอกสูบ syringe สำหรับดูดน้ำยาใส่เข้าไปในแผล ฉีดล้างจนแผลสะอาด แล้วปิดแผลให้เรียบร้อย
ทำไมถึงต้องทำแผล ล้างแผลทุกวัน
-
ทำแผลป้องกันการปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลทางผิวหนัง
-
ส่งเสริมกระบวนการหายของแผล
-
เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแผล เฝ้าระวังอาการอักเสบ และติดเชื้อของแผล
หากลืมล้างแผลต้องทำอย่างไร
พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประเมินลักษณะของแผล รวมถึงอาการบวม แดง หนอง เพื่อทำแผล ล้างแผลให้เหมาะสม และพิจารณารับยาปฏิชีวนะหากพบการติดเชื้อ
หัตถการแบบไหนบ้างที่ต้องล้างแผล (เพราะอะไร)
-
หัตถการการเย็บ (Suture) เพราะป้องกันสิ่งปนเปื้อนเข้าสู่แผล จนกระทั่งรอวันนัดกำหนดตัดไหม
-
หัตถการผ่ากรีด (Incision and Drainage) เพราะช่วยดูดซับและเก็บกักสิ่งคัดหลั่ง (Exudate) ออกมาจากแผลได้
-
หัตถการผ่าตัดชิ้นเนื้อออก (Excision) เพราะป้องกันการคั่งค้างหรือสะสมของสิ่งคัดหลั่ง (Exudate) ในแผล ทำให้บาดแผลตื้นขึ้น
-
หัตถการถอดเล็บ (Nail extraction) เพราะส่งผลให้เกิดสภาวะที่ดีเหมาะแก่การงอกของเนื้อเยื่ออย่างสมบูรณ์
การดูแลแผลที่บ้านต้องทำอย่างไร
-
หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรก หรือเปียกน้ำ เพราะจะทำให้แผลหายช้า และอักเสบ ติดเชื้อได้
-
ควรล้างแผลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้น กรณีแผลซึมมาก รวมถึงมาตัดไหมตามนัด โดยทั่วไปนัดประมาณ 7 วัน
-
ส่งเสริมการไหลเวียนของโลหิตมายังแผล โดยดูแลไม่ให้ผ้าพันแผลรัดแน่นเกินไป ระยะ 24-48 ชั่วโมงแรกที่บาดเจ็บ ประคบเย็นโดยความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ปริมาณเลือดที่ไหลมาสู่บาดแผลลดลง ช่วยลดอาการบวมได้ ส่วนการประคบร้อนหลังจากนั้นจะทำให้หลอดเลือดขยาย เลือดไปเลี้ยงบาดแผลมากขึ้น กล้ามเนื้อหย่อนตัว จึงลดอาการปวดได้
-
ยกบริเวณที่มีบาดแผลไว้สูง เพื่อให้เลือดดำและน้ำเหลืองไหลกลับสะดวก ช่วยลดอาการบวม
-
รับสารอาหารที่เพียงพอ และมีประโยชน์ต่อกระบวนการหายของแผล เช่น วิตามินเอ
-
วิตามินบี วิตามินซี และโปรตีน เพราะสารอาหารมีความจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือด และสร้างเส้นใยคอลลาเจน (collagen fiber)
-
พักผ่อนร่างกายและอวัยวะที่มีบาดแผลให้มากที่สุด เพราะการพักผ่อนจะลด กระบวนการเผาผลาญภายในเซลล์ที่ไม่จำเป็น เนื้อเยื่อสามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปใช้ได้ เพียงพอ และการพักบริเวณที่มีบาดแผลจะช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนบาดแผล
พญ.สุพรรษา เหนียวบุบผา
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 08/02/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com